ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.63 ที่มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการฯ ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นกว่าคาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะหดตัว -6.6% ซึ่งติดลบน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม และจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.2% ในปี 64 และเร่งตัวขึ้นเป็น 4.8% ในปี 65 พร้อมประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม จะกลับสู่ระดับก่อการระบาดของโควิดในช่วงครึ่งหลังของปี 65
สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการปรับประมาณการเศรษฐกิจในครั้งนี้ ได้แก่ 1.พัฒนาการเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และ 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ปี 63 ที่ดีกว่าคาด 2.เครื่องชี้ตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง 3.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อแนวโน้มการส่งออกของไทย แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ 1.ข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงจากการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด และความไม่แน่นอนของประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 2.ข้อสมมติการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับลดลงตามกรองงบประมาณปี 2564 รวมถึงการปรับลดแผน และการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย รวมถึงมาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป ดังนี้
- การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดรุนแรง จะกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยได้มาก ดังนั้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และประเมินความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ
- การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจและกลุ่มพื้นที่ จึงควรติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจเชิงลึกเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งลูกหนี้รายย่อย และธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง
- ค่าเงินบาทยังเผชิญความท้าทายในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรเร่งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (new FX ecosystem) เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุลมากขึ้น
- มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ การที่ระดับหนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นในระยะปานกลาง ไม่ได้สร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า หากการก่อหนี้ของภาครัฐเป็นไปเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตและเอื้อให้แนวโน้มหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีความยั่งยืนได้
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ยังมีกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ผ่านการผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (new FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง สำหรับมาตรการการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด รวมถึงควรเร่งดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขเชิงรุก และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เพียงพอ เพื่อจำกัดผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจ
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ ความเปราะบางในตลาดแรงงาน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ความคืบหน้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น