น.ส.กุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อเกี่ยวกับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ แต่กลับไม่มีมาตรการเยียวยาจากรัฐบาลที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว และประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดนั้นว่า กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการระบาดอย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน และขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังที่พร้อมจะดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง
โฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ภาครัฐมีแหล่งเงินทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 กว่า 1.39 แสนล้านบาท และเงินกู้ตามพ.รก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือจำนวน 4.7 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563) และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท ที่จะดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป
น.ส.กุลยา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ตามที่มีข่าวว่ากระทรวงการคลังจะมีมาตรการเยียวยาแจกเงิน จำนวน 4,000 บาท ขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ