นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งมีแหล่งแพร่กระจายมาจากตลาดกลางกุ้งใน จ.สมุทรสาคร และขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดและนอกจังหวัดนั้น มีข้อมูลทางวิชาการจากกรมประมง ยืนยันชัดเจนว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ ไม่ใช่เกิดจากการแพร่ระบาดจากสัตว์น้ำสู่คน แต่เป็นการแพร่ระบาดจากคนสู่คน โดยสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และได้นำเชื้อโควิด-19 เข้ามาในประเทศเมื่อเดือนส.ค.63 และเข้ามาอยู่ปะปนกับชุมชนแรงงานต่างด้าวเก่าที่อยู่ในประเทศไทยมานาน จนทำให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 ต่อๆ กันมา
อย่างไรก็ดี ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมมือกันดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุกการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น ในส่วนโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้มีการเร่งรัดการดำเนินการความร่วมมือภาครัฐและสถานประกอบการเร่งรัดการตรวจคัดกรองพนักงานและแรงงาน เพื่อแยกแยะบุคลากรที่มีเชื้ออยู่ในตัว แต่ไม่มีอาการหรือป่วย และสามารถเป็นพาหะนำโรคหรือทำให้คนอื่นติดเชื้อได้ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดในจังหวัด
ขณะที่สมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เช่น สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ตั้งแต่ส.ค.63 ในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผ่านโครงการ "การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID - 19 Prevention Best Practice) และจะได้รับหนังสือรับรองว่าสินค้าได้มีการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกให้กับผู้ผลิตอาหาร โดยหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ผู้บริโภค และผู้นำเข้าต่างประเทศได้ เป็นต้น
"ขอยืนยันกับประชาชน ผู้บริโภค ผู้ซื้อ และผู้นำเข้าว่า สัตว์น้ำไทยได้มีการดูแลปฏิบัติ ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในตัวสินค้า เพื่อการบริโภคทั้งในและต่างประเทศอย่างเต็มที่ที่สุด และให้ความร่วมมืออย่างดีกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งที่ผ่านมา และในอนาคต" นายพจน์ระบุ
ด้านวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ปรากฏว่าพบแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ติดเชื้อฯ จำนวนมาก ซึ่งได้สร้างความกังวลใจถึงความปลอดภัยของสินค้า และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทย ซึ่งกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เพิ่มมาตรการในการดูแล ควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานในกระบวนการผลิตสินค้าประมงในโรงงานแปรรูปอย่างเข้มงวด เพื่อยืนยันว่า สินค้าประมงที่ผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) และ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงสุด
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มีความเข้มข้นมากขึ้นในทุกด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งวัตถุดิบ และการปฏิบัติในโรงงาน ทั้งในส่วนของผู้ซื้อและผู้นำเข้าว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี ประกอบด้วย
1. มาตรการกำจัด หรือลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ ingredient และภาชนะบรรจุ
2. มาตรการควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด โดยโรงงานต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตลอดสายการผลิต ตั้งแต่การรับวัตถุดิบที่นำเข้าโรงงาน กระบวนการแปรรูป การบรรจุ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน GMP และ HACCP รวมทั้งมีมาตรการเพิ่มเติมในการนำสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งภายในและภายนอกตู้
3. มาตรการควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน ไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง
"อยากย้ำความมั่นใจว่า สัตว์น้ำ หรืออาหารทะเลไม่ใช่พาหะในการนำเชื้อโควิดไปติดสู่คน สินค้าประมงเป็นสัตว์เลือดเย็น อาศัยในน้ำ แต่ไวรัสโควิดจะแพร่กระจายทางอากาศ ดังนั้นองค์ประกอบและสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เชื้อกระจายไปนั้น ไม่มี แต่สิ่งที่เสี่ยง คือ การที่คนมีเชื้อ แล้วไปสัมผัสกับอาหารทะเล ตรงนี้น่ากังวลมากกว่า" รองอธิบดีกรมประมงระบุ
ด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้กำหนดนโยบายให้สมาชิกทั้งโรงงานทูน่า และโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนผู้ค้าจัดส่งปัจจัยการผลิต (Supply chain) ให้โรงงานทูน่าดำเนินการตามมาตรการพิเศษของกระทรวงสาธารณสุข และกรมประมง ในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำส่งออก เพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิต
ทั้งนี้ สมาชิกของสมาคมฯ ได้เข้าร่วมโครงการ "การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID - 19 Prevention Best Practice) ซึ่งจะได้รับหนังสือรับรองว่าสินค้าได้มีการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก
นายชนินทร์ กล่าวว่า ปลาทูน่ากระป๋องของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก และไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก มูลค่ากว่า 8.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะกระบวนการผลิต และกระบวนการควบคุมคุณภาพของปลาทูน่ากระป๋องทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บรักษาปลาทูน่าหลังจับจากทะเลจนถึงส่งขาย อยู่ภายใต้ระบบ HACCP, สินค้าผ่านการฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความ ดัน (RETORT) ที่อุณหภูมิสูงกว่า 115 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานจนค่าความร้อนมากพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งหมด รวมถึงไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นค่าความร้อนที่ใช้อ้างอิงจากมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO/CODEX) ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19
นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงแช่เยือกแข็ง ตลอดจน Supply Chain ของห้องเย็นทุกโรงงานต่างตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนไวรัส รวมถึงสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการผลิตอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าอาหารที่ผลิตออกจากโรงงานจนถึงมือผู้บริโภคมีความสะอาดและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
โดยสมาคมฯ ได้มีการดำเนินงานต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเล ดังนี้
1. ผลักดันให้สมาชิกฯ เข้าร่วมโปรแกรมการตรวจประเมินการปฏิบัติตามมาตรการพิเศษ เพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิตอาหาร ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก
2. ประชุมทำความเข้าใจกับสมาชิกสมาคมฯ ที่มีโรงงานอยู่ทั้งภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อซักซ้อมแผนการป้องกันของโรงงาน ตลอดจนการติดตามข้อมูลถึงสถานการณ์การระบาด และการปรับเปลี่ยนวิธีการป้องกันของสมาชิกตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
3. เห็นชอบร่วมกันในการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 กับพนักงานทั้งหมด 100% เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ ระบาด และเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองพนักงานในการเข้าสู่กระบวนการผลิต
4. โรงงานสมาชิกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย มีการทำแผนที่ Mapping ที่พักของแรงงานของตน หากพบว่าบุคลากรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง โรงงานจะขอความร่วมมือให้พนักงานหยุดงาน หรือจัดหาที่พักที่เหมาะสมให้เป็นรายๆ ไป
"สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจำนวนแรงงานของโรงงานสมาชิก เพื่อประสานความร่วมมือจากโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ ในการที่จะให้การบริการการตรวจคัดกรอง ป้องกัน และเฝ้าระวังความเสี่ยงให้กับพนักงานทุกคนของ โรงงานได้ในราคาที่สมเหตุผล" นายผณิศวรกล่าว
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สมาคมฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารที่ปลอดภัยด้วยระบบ GMP และ HACCP เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าอาหารสำเร็จรูปมีความปลอดภัย และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อระดับสเตอริไลซ์ด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 110 องศาเซลเซียส โดยกระบวนการฆ่าเชื้อดำเนินการภายหลังการปิดฝาแล้ว จึงยืนยันได้ถึงความปลอดเชื้อ และสามารถจัดเก็บได้นานที่อุณหภูมิปกติ
นอกเหนือจากการผลิตตามมาตรฐาน GMP และ HACCP แล้ว กระบวนการผลิตในโรงงานยังเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์อาหารและบุคลากรที่ทำการผลิต
ขณะที่ในด้านผู้บริโภค สมาคมฯ ได้แนะนำถึงการป้องกันตัวเองด้วยการปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เพื่อลดความเสี่ยง จากการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ควรล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์อาหารที่ซื้อมาให้สะอาดก่อนการจัดเก็บ เช่นเดียวกับอาหารสดที่ต้องล้างให้สะอาดก่อนเก็บเข้าตู้เย็น ในขั้นตอนการปรุงอาหารควรแยกเขียง และภาชนะที่ใช้สำหรับอาหารก่อนปรุง และหลังปรุงสุก
"การให้ความร่วมมือพร้อมกันทั้ง 2 ด้าน ระหว่างสถานประกอบการ ด้วยการผลิตตามสุขลักษณะที่ดี และผู้บริโภค ซึ่งมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ทำให้ทุกคนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงของตนเองและสังคมจากการติดเชื้อโควิด" นายวิศิษฐ์กล่าว
ด้านนางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร และประธานสหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด เจ้าของตลาดทะเลไทย ให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนต่อการเข้ามาซื้อสินค้าอาหารทะเลภายในตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร โดยยืนยันถึงมาตรการรักษาสุขอนามัยของตลาดว่าปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 พร้อมย้ำว่าเชื้อโควิดไม่ได้แพร่จากอาหารทะเลอย่างแน่นอน
"ตลาดทะเลไทยตอนนี้ปลอดโรคแน่นอน เรามีมาตรการเข้มงวด ฉีดพ่นคลอรีนแก่รถที่เข้ามา ตรวจผู้ซื้อทุกคนที่เข้ามาต้องมีใบรับรองว่าผ่านการตรวจหาเชื้อโควิดแล้ว ถ้าไม่มี เราจะไม่ให้เข้าตลาด บังคับให้ทุกคนต้องใส่ Mask มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย...ไม่ต้องกังวลว่าโควิดจะติดต่อจากอาหารทะเล เมื่อปรุงสุก ปลอดภัยแน่นอน" นางอำไพ ระบุ