นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) หรือ TCC-CI เดือน ธ.ค.63 ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 369 ตัวอย่าง ในเดือน ธ.ค.63 พบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 31.8 ลดลงจากเดือนพ.ย.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 33.7
โดยปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนธ.ค. ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกครั้ง, การยกเลิกจัดงานปีใหม่ในหลายพื้นที่, ความกังวลเกี่ยวกับการล็อกดาวน์อีกครั้ง, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมารการเศรษฐกิจไทยปี 64 ลงเหลือ 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, การส่งออกของไทยเดือนพ.ย.63 ลดลง -3.65% และเงินบาทปรับตัวแข็งค่า
ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ ได้แก่ กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ดีขึ้นเป็น -6.6% จากเดิมคาด -7.8% หลังการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น, กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น, รัฐบาลมีมาตรการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 63- ต้นปี 64 เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 2, เราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนธ.ค.63 ในแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียด ดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 32.5 โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 2, เราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน ซึ่งกระตุ้นให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลโควิดรอบใหม่ที่มาจากแรงงานลักลอบเข้าประเทศ, การยกเลิกจัดงานปีใหม่ในหลายพื้นที่, ค่า PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล, ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจากโควิดรอบใหม่, สถานการณ์ชุมนุมประท้วงทางการเมืองของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย
- ภาคกลาง
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 32.3 โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น, ภาคเกษตรกรรมที่เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้มีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลจากการระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง, หนี้สินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรายได้มีแนวโน้มลดลง, การตกงานจากการปิดกิจการ และวิถีชีวิตประชาชนส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนไป
- ภาคตะวันออก
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 36.0 โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น, ภาคเกษตรกรรมที่เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลจากการระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง, ความกังวลของธุรกิจโรงแรมที่พักที่ถูกยกเลิกการจอง, ปัญหาการตกงาน, ภาระหนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 31.0 โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น, การส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลในการระบาดของใหม่ของโควิด-19, จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากการยกเลิกการจัดงานปีใหม่, หนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น, ความกังวลจากการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
- ภาคเหนือ
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 31.4 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมากขึ้น จากการลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ, การเลื่อนจัดประชุม-สัมมนา ศึกษาดูงาน ทำให้โรงแรมและห้องพักถูกยกเลิกการจอง, ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องธุรกิจลดลงอย่างมาก
- ภาคใต้
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 28.7 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวของโรงงานและเงินลงทุน รวมถึงยังมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ การท่องเที่ยวยังคงซบเซาต่อเนื่อง หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศเพิ่มมากขึ้น, การยกเลิกจัดงานปีใหม่, สถานการณ์น้ำท่วมหนักในบางจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้, การย้ายฐานการผลิตของต่างชาติมากขึ้น ทำให้เกิดการตกงาน, ภาระหนี้สินทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. มาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อกับต้นทุนทางการเงิน การผ่อนผันหรือชะลอการจ่ายภาษี เป็นต้น
2. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในการช่วยพยุงรักษาการจ้างงานของธุรกิจ
3. เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า หรือท่องเที่ยวให้กลับมาได้เพิ่มขึ้น
4. การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งไม่ควรให้บริษัทหรือโรงงานย้ายฐานการผลิตไป
5. การใช้งบประมารของภาครัฐ โดยรัฐบาลควรอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับส่วนรวม