นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงภาวะหนี้ครัวเรือนปี 63 ว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สินรวม 4.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.3% ถือว่าสูงสุดในรอบ 12 ปีทั้งในส่วนของมูลค่าหนี้สิน และอัตราการขยายตัว โดยมูลค่าหนี้สินกว่า 4.83 แสนล้านบาทนี้ พบว่าสัดส่วน 75.3% เป็นหนี้ในระบบ และที่เหลืออีก 24.7% เป็นหนี้นอกระบบ
"หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่สำรวจมา 12 ปี หรือตั้งแต่ปี 52 และขยายตัวสูงสุดนับแต่ปี 52 ปีอื่นๆ ไม่เคยมีตัวเลขสูงขนาดนี้มาก่อน และเป็นการขยายตัวสูงสุดในสินเชื่อในระบบถึง 75.3% ส่วนสินเชื่อนอกระบบขยายตัว 24.7%" นายธนวรรธน์ระบุ
อย่างไรก็ดี แม้หนี้ครัวเรือนจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ การก่อหนี้นอกระบบยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่า และเชื่อว่าหนี้ครัวเรือนจะไม่ใช่ปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
"ปีที่มีโควิด หนี้เกิดขึ้นเยอะมาก หนี้เก่า หนี้ใหม่พอกพูนขึ้น แต่การเพิ่มของหนี้สินเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ ถือว่าเป็นเรื่องดีกว่า เพราะภาระหนี้ที่ประชาชนรับ จะอยู่ในระบบเป็นส่วนใหญ่ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี ดีกว่าหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้นสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังพอจะแก้ไขได้ ไม่เป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์กล่าว
ทั้งนี้ จากการสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างถึงปัจจัยที่ทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ตอบว่าเศรษฐกิจไม่ดี, ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้, รายได้ลดลง, ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด, ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือน
สำหรับการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายช่วงหลังจากนี้ไป กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่าจะต้องลดการใช้จ่ายในส่วนของการท่องเที่ยว, สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าคงทนลง ในขณะที่การใช้จ่ายสำหรับการบริโภคทั่วไปในชีวิตประจำวันยังคงเท่าเดิม
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนในปี 63 อยู่ที่ระดับ 88.7% ต่อจีดีพี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 89-90.9% ต่อจีดีพีได้ในไตรมาส 1/64 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดยังมีความเข้มในช่วงดังกล่าว แต่เชื่อว่าเมื่อภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบออกมา ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย ทั้งผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนก็จะก่อหนี้ลดลง