สศช. ชงงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 51 วงเงิน 2.89 แสนลบ. เสนอครม.อังคารนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday September 9, 2007 09:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย  วันที่ 11 ก.ย. 50 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะเสนอให้ ครม.พิจารณากรอบงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 51 วงเงินเบิกจ่ายลงทุน 289,756 ล้านบาท หรือ 3.2%  จีดีพี ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความพร้อม 216,673 ล้านบาท การลงทุนที่ต้องรอขออนุมัติตามขั้นตอน 73,083 ล้านบาท  
ประกอบด้วย โครงการลงทุนใหม่ 31,839 ล้านบาท และการลงทุนที่คาดว่าจะดำเนินการไม่ทันในปีงบประมาณ 50 ต้องขออนุมัติเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 51 อีก 41,244 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าในปีงบประมาณ 51 รัฐวิสาหกิจจะมีกำไรสุทธิ 84,671 ล้านบาท ขณะที่ปี 52-54 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 295,666 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 98,555 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายลงทุนรวม 739,216 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 248,405 ล้านบาท
"ควรกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนอย่างน้อย 90% ของวงเงิน และมอบหมายให้ สศช. เป็นผู้พิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปีสำหรับโครงการลงทุนใหม่ และการลงทุนที่ใช้งบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณ 51 รวมทั้งปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณด้วย"
สำหรับข้อเสนอให้ ครม.พิจารณาครั้งนี้ได้ขอให้กระทรวงเจ้าสังกัดรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปดำเนินการ เช่น การแก้ไขรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เอกชนดำเนินการได้มีประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพขององค์กร การให้บุคลากรของรัฐวิสาหกิจเรียนรู้วิธีการทำงานไปพร้อมกับที่ปรึกษาที่จัดจ้างมาเพื่อให้ดำเนินโครงการในอนาคตได้ด้วยตนเอง และให้พัฒนาพนักงานไปสู่การเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานอื่น
ขณะเดียวกันให้พิจารณาปรับโครงสร้างหนี้(รีไฟแนนซ์)เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากคาดว่ามีหนี้สิน ณ ปี 51 จำนวน 1,517,361 ล้านบาท โดยเป็นหนี้สินต่างประเทศ 221,328 ล้านบาท อีกทั้งให้รายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนในปีงบประมาณ 51 ของรัฐวิสาหกิจในสังกัดให้ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ติดตามและประเมินผลของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
นอกจากนี้ ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐวิสาหกิจของประเทศในการขับเคลื่อนระยะต่อไป เพราะปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ หรือดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขาดทุนต่อเนื่อง หรือมีหนี้สินจำนวนมากเร่งจัดทำระบบบัญชีเชิงสังคมให้ชัดเจนเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการขอรับเงินอุดหนุนค่าชดเชยในส่วนที่ขาดทุนด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ