นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังชี้แจงสาเหตุที่การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นการชี้แจงตามข้อตกลงร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.64 กระทรวงพาณิชย์ ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน ธ.ค. 63 อยู่ที่ -0.27% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ -0.85% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 64
ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบไม่ได้เป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด หากพิจารณาจาก 4 เงื่อนไข ได้แก่ 1) ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องยาวนาน 2) ราคาสินค้าและบริการไม่ได้หดตัวในวงกว้าง 3) การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และ 4) อุปสงค์และการจ้างงานไม่ชะลอลงยาวนานต่อเนื่อง
สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายมาจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะการลดลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังโควิด 19 โดย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงกลางปี 64 ตามแรงสนับสนุนเงินเฟ้อด้านอุปสงค์และอุปทานที่ทยอยเพิ่มขึ้น
ในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจยังเปราะบางและเผชิญความไม่แน่นอนสูง กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยอุปสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
ในระยะต่อไป กนง.เห็นว่าการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินที่ยังจำเป็นต้องผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะต่อไป
นอกจากนี้ กนง. ได้สนับสนุนให้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงเน้นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุด (targeted) มากขึ้น และผลักดันมาตรการเพื่อให้เกิดระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) เป็นการส่งเสริมเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว
ทั้งนี้ กนง.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ