ผู้บริหารซีพีคาดบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ลงทุน-บริโภคเอกชนฟื้นเต็มที่ Q3/51

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 11, 2007 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวีรวัฒน์ กาญจนดุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่บริหารอาวุโส ด้านบัญชีและการเงิน เครือเจริญโภคภัณฑ์(CP)ประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าจนถึงปีหน้า แต่หวือหวาน้อยลง ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะดีขึ้น แต่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะฟื้นตัวมาสู่ระดับปกติในช่วงไตรมาส 3/51 
ผู้บริหารเครือซีพี คาดว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องราว 2-3% หลังจากช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าถึง 12.8% ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่ค้าและคู่แข่ง ทำให้ผู้ส่งออกไทยพลาดโอกาส แต่แม้ว่าตัวเลขส่งออกเดือนก.ค.จะชะลอลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าทั้งปีการส่งออกยังขยายตัวไปได้ เพราะเป็นเรื่องเดียวที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาได้
"เงินบาทไม่ได้ห่วงว่าแข็งค่าไปเท่าไร แต่อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้เราตั้งตัวไม่ทัน คาดว่าปีหน้าบาทก็ยังแข็งต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี จนกว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ" นายวีรวัฒน์กล่าว
ในขณะนี้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของไทยล่าสุดมีสูงถึง 7.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ณ 31 ส.ค.50) โดยนายวีรวัฒน์กล่าวว่า ทุนสำรองปัจจุบันมีมากเกิน และเห็นว่าทางการควรจัดการไม่ให้สูงมาก เพราะอาจจะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ และจะกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรใส่ใจดูแลเรื่องค่าเงินมากกว่าเงินเฟ้อซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับต่ำ เพราะการแข็งค่าทุกๆ 1 บาท/ดอลลาร์จะส่งผลให้อัตราการขยายจีดีพีลดลง 0.28% โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทได้แข็งค่าไปแล้วประมาณ 5 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะกระทบกับจีดีพีประมาณ 1.4%
"แบงก์ชาติควรจะ active เรื่องเงินตราต่างประเทศ ต่อไปนี้การที่ให้แบงก์ชาติมีอิสระในการบริหาร ไม่ใช่ปล่อยไปอย่างนั้น เราจะฝากอนาคตไว้กับหน่วยงานเดียวหรือ นโยบายหลักควรจะมาจากรัฐบาล แต่ปล่อยให้แบงก์ชาติบริหารอย่างเป็นอิสระเดินไปตามนโยบายหลัก" นายวีรวัฒน์ กล่าว
เดือนส.ค.ที่ผ่านมา CPI เพิ่มขึ้น 1.1% ส่วน Core CPI อยู่ที่ 0.7% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ธปท.ตั้งเป้าไว้ที่ 3%
นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ภาวะการลงทุนของภาคเอกชน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะฟื้นตัวในไตรมาส 3 ปีหน้า หลังสถานการณ์การเมืองในประเทศนิ่งและเกิดรัฐบาลใหม่ เพราะหากมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้กว่าจะได้รัฐบาลใหม่ประมาณเดือนก.พ.51 ซึ่งเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่เผชิญการลงทุนและความเชื่อมันของผู้บริโภคลดลงก็คงต้องใช้เวลาสักระยะ
ส่วนปัญหาซับไพร์มในสหรัฐยังเป็นเรื่องน่ากังวลในตลาดต่างประเทศ และมีแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% เพื่อหวังแก้ปัญหาซับไพร์มไม่ให้ลุกลาม และคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)อาจปรับดอกเบี้ยนโยบายลงตามเฟด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ