นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า คาดเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัวที่ระดับ 2.5% พ้นจากภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นในปี 63 ที่เศรษฐกิจหดตัว 6.5% โดยประเมินจากมาตรการเยียวยาโควิด-19 รอบสองของรัฐที่ออกมา ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเรื่องของวัคซีนต้านโควิด-19 ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้
แต่อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมลดลง โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุน และจากมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาดทั่วโลก ทำให้กระทบกับภาคการส่งออกของไทย คิดเป็นมูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท และกระทบกับการใช้จ่ายภายในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่า 1.67 แสนล้านบาท โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศ
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีโอกาสการคลายมาตรการคุมเข้มลงบ้างในระยะต่อไป แต่มองว่าการท่องเที่ยวอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอีกหลายเดือน แต่แน่นอนว่าสถานการณ์โควิดรอบใหม่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไตรมาส 1/64 และไตรมาส 2/64 เล็กน้อย โดยทางศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะอยู่ที่ 109.6 ล้านคน-ครั้ง (ในกรณีควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 2 เดือน) และมีมูลค่าท่องเที่ยวที่สูญเสียไม่น้อยกว่า 1.1 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.64) ก็คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงสู่ระดับ 100.8 ล้านคน-ครั้ง และเกิดมูลค่าท่องเที่ยวที่สูญเสียเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนล้านบาท
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้ คาดการณ์ว่าจะลดลงมาที่ 4.4 ล้านคน จากปีก่อนอยู่ที่ 6.7 ล้านคน โดยมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป หรือคิดเป็นจำนวนราว 3 ล้านคน ประเมินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว, บุคคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญๆ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลกว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่อีกครั้ง
"การแพร่ระบาดระลอกใหม่ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสราว 1.67 แสนล้านบาท จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้าออกไปท่ามกลางความไม่แน่นอน และยังมีปัจจัยอื่นที่กดดันเศรษฐกิจอยู่ เช่น การขาดแคลนตู้สินค้าในการส่งออก ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้จำกัด และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด กดดันการส่งออกปีนี้โตเพียง 2.9% จากปีก่อนหดตัว 8.2%, การแข็งค่าของเงินบาท คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 28.5 บาท/ดอลลาร์ จากปีก่อนอยู่ที่ 30.00 บาท/ดอลลาร์ และภาวะแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีจะได้รับอานิสงส์จากวัคซีนโควิดที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม"นายพชรพจน์ กล่าว
นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Megatrend ของโลก เช่น กระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาที่มีความ Greener, Smarter และ Fairer
นอกจากนี้ยังต้องจับตาท่าทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการค้ารอบใหม่ เช่น แนวนโยบายภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีนที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ตลอดจนความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดโลก
"ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ในระยะข้างหน้า บริบทใหม่ของโลกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศมหาอำนาจของโลกให้น้ำหนักกับประเด็นนี้มากขึ้น และอาจมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ภาคธุรกิจไทยจึงต้องเตรียมการรับมือ โดยหันมาดำเนินธุรกิจบนฐานของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดีปัจจัยแวดล้อมใหม่ก็อาจส่งผลบวกต่อการค้าไทยได้เช่นกัน เช่น แนวนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะปรับตัวเข้าสู่กฎกติกาสากลมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าจะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจน อีกทั้งความตกลง RCEP ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า จากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากการค้าระหว่างคู่เจรจาที่จะคึกคักขึ้น"