นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทิศตะวันตก (West Expansion) และทิศเหนือ (North Expansion) พร้อมกันทั้ง 3 อาคาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุนราว 5.7 หมื่นล้านบาท
โดย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ได้นำเสนอข้อมูลจำนวนผู้โดยสารกับขีดความสามารถในการรองรับ อาคารผู้โดยสารหลัก (ปัจจุบัน) จำนวน 45 ล้านคนต่อปี ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์ระบาดของโรคโควิดมีผู้โดยสารกว่า 60 ล้านคนต่อปี ทำให้เกิดปัญหาความคับคั่ง และปัจจุบัน สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน รวมกับอาคารเดิม เป็น 60 ล้านคนต่อปี และมีการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งเมื่อก่อสร้างรันเวย์แล้วเสร็จ จะรองรับจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือประเมินเป็นผู้โดยสารได้ที่ 90 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ในปี 2565 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายความสามารถของอาคารผู้โดยสารให้สัมพันธ์กับขีดความสามารถรันเวย์
"จากการหารือกับเลขาสภาพัฒน์ ไม่ขัดข้องในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ หรือ North Expansion รองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี และเห็นว่าควรทำการขยายอาคารหลักในด้านตะวันออกและตะวันตกไปด้วย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถอีกด้านละ 15 ล้านคนต่อปี รวมทั้ง 3 อาคาร จะรองรับได้เพิ่มอีก 60 ล้านคนต่อปี" รมว.คมนาคมกล่าว
พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดโรคโควิดที่แม้จะทำให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารในปัจจุบันลดลง แต่คาดว่าภายในปี 2564 ที่จะเริ่มมีการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด จึงทำให้รัฐบาลมั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ ส่งผลให้การเดินทางและท่องเที่ยวจะกลับมามากขึ้น ซึ่งประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก และกว่า 80% ของรายได้ท่องเที่ยวมาจากทางอากาศ ดังนั้นหากผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวกลับมา เชื่อว่าจะต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่างไว้ด้วย การเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารจึงมีความจำเป็นและจะไม่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาส
สำหรับแผนงาน การก่อสร้าง East Expansion มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ 15 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน พื้นที่ 66,000 ตร.ม. และมีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ เคาเตอร์เช็คอิน 108 เคาเตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง
ส่วนการก่อสร้าง West Expansion มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 15 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน พื้นที่ 66,000 ตร.ม. เคาเตอร์เช็คอิน 108 เคาเตอร์ สายพานรับกระเป๋า 6 ชุด ช่องตรวจค้น 9 ช่อง ช่องตรวจคนเข้าเมือง ขาออก 34 ช่อง ขาเข้า 56 ช่อง
การก่อสร้าง North Expansion รองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ 30 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 41,260 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 25 เดือน พื้นที่ 348,000 ตร.ม. และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อาคารจอดรถ 3,000 คัน หลุมจอดประชิดอาคาร 14 หลุมจอด สายพานรับกระเป๋า 17 ชุด ช่องตรวจค้น 49 ช่อง ช่องตรวจคนเข้าเมือง ขาเข้า 82 ช่อง ขาออก 66 ช่อง รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ทั้ง Airside และ Landside รวมทั้งมีพื้นที่ถนนรองรับรถหน้าอาคารผู้โดยสารในส่วนของอาคารทิศเหนือ
"ถือว่าสภาพัฒน์เห็นชอบการลงทุนแล้ว และเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมในการดำเนินการ โดยขั้นตอนจากนี้ให้ ทอท.เร่งหารือกับ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ IATA เพื่อทบทวนความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน คาดว่าจะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนมี.ค.64 และเปิดประมูลหาผู้รับจ้าง 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.) เริ่มก่อสร้างต.ค.64 โดยอาคารทิศเหนือจะเสร็จก่อนเร็วสุดในเดือนก.ย.66 ส่วนอาคารตะวันออกและตะวันตก จะเสร็จในเดือนม.ค.67" นายศักดิ์สยามกล่าว
พร้อมระบุว่า การลงทุนเกือบ 60,000 ล้านบาทนั้น ไม่เป็นปัญหาสำหรับ ทอท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจระดับต้นๆ ที่มีสถานะการเงินเข้มแข็งมาก และเชื่อว่าในปี 2565 การเดินทางจะกลับมา และรายได้ก็จะกลับมาเช่นกัน
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. (AOT) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.มีสภาพคล่องประมาณ 32,000 ล้านบาท และประเมินการเงินในปี 2564 ว่า ทอท.ไม่จำเป็นต้องกู้เงิน ส่วนในปี 2565-2566 จะต้องประเมินสถานการณ์วัคซีนและการเดินทางอีกครั้ง โดยเบื้องต้น ทอท.มีรายจ่ายประจำประมาณ 250 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นสภาพคล่องตอนนี้ยังไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม การลงทุนอาคารผู้โดยสาร 3 หลังนี้มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่คุ้มค่า และทอท.พร้อมที่จะลงทุน