วงการการเงินมองแนวโน้มบาทแข็งค่าขึ้นอีก 1.5-2.0 บาท/ดอลลาร์ในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 7, 2007 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          วงการแบงก์-โบรกเกอร์ คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกราว 5-7% หรือ 1.5-2.0 บาท/ดอลลาร์ในช่วงนี้จนถึงปลายปี เป็นผลจากควาพยายามแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐ การ carry trade เงินเยน รวมถึงสภาพตลาดเงินบาทที่ยังคงเบาบาง แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงจะไม่ยอมให้แข็งค่าได้เต็มที่ 
นายทรงพล ชีวะปัญญาเลิศ ผู้บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวในการสัมมนา"เงินบาท where are you?" แนวทางการจัดการค่าเงินบาทกับวิธีการปรับตัว"ว่า เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีนี้อีกประมาณ 2 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากจะมีรายได้ต่างประเทศจากการท่องเที่ยวเข้ามา และหากรัฐบาลไม่เร่งการใช้จ่าย ประกอบกับยังมีปัญหาการ carry trade เงินเยน ก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ช่วงที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเกิดจากการวางแผนที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น รัฐบาลต้องกลับมาวางแผนเรื่องการลงทุน เพื่อให้ค่าเงินเกิดความสมดุล เพราะขณะนี้สภาพคล่องของตลาดเงินบาทในประเทศค่อนข้างเบาบาง เพราะผู้ส่งออกและผู้นำเข้าเชื่อว่ามาตรการ 30% จะทำให้เงินบาทนิ่ง
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.ภัทร มองว่า ระยะสั้นปัญหาซับไพร์มจะทำให้บาทอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนกำลังทบทวนและปรับพอร์ตการลงทุน จึงมีการขายหุ้นออกไปบ้าง แต่ในระยะกลางตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นปี 50 เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นราว 1.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากคาดว่าสหรัฐจะกดดันให้หยวนแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินในภูมิภาค รวมทั้งบาทแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็จะมีภาระมากขึ้นที่จะต้องดูแลเสถียรภาพของเงินบาท ซึ่งอาจจะต้องออกพันธบัตรเพื่อแทรกแซงเงินบาท
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเชื่อว่าเงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่า โดยเฉพาะจากผลของเงินทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าตามที่นักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาดการณ์ไว้ว่าจีนและอินเดียจะเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
ส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐยังมีข้อกังวลว่าผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มจะทำให้ประเทศอื่น ๆ ไม่กล้าปล่อยกู้ให้สหรัฐ นอกจากนั้น ล่าสุดพบว่าจำนวนบ้านในสหรัฐที่สร้างเสร็จรอจำหน่ายมีจำนวนสูงถึง 2 ล้านหลัง หากกลายเป็นปัญหา NPL เหมือนที่เกิดขึ้นอีกก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจสหรัฐได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ทางออกของไทยในการรับมือบาทแข็งคือควรจะเร่งนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะเครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนของรัฐและเอกชน หรือรัฐเปิดเสรีให้เอกชนลงทุนได้ แต่อย่าไปลงทุนเพื่อแก้ไขการส่งออก เพราะปัจจุบันประเทศไทยส่งออกเกินความต้องการแล้ว
"ปกติประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา ควรจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ เราก็ใช้เงินนั้นไปซื้อของนอกประเทศเข้ามา ซึ่งขณะนี้กลับกัน เพราะเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 6 เดือน 6.4 พันล้านเหรียญ และเงินยังไหลเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้บาทแข็ง แบงก์ชาติก็ต้องเข้าไปซื้อดอลลาร์ โดยใช้เงินไปแล้วถึง 8.6 พันล้านเหรียญ"นายศุภวุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ