พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยรัฐบาลจะดูแลคนให้มากที่สุดในส่วนที่มีงบประมาณยังเหลืออยู่ แต่จำเป็นต้องเหลือไว้อีกบางส่วนเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงต่อไปด้วย
ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า แนวโน้มการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อใหม่และจำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วกลับบ้านได้ใกล้เคียงกัน บางวันผู้ที่รักษาหายมีจำนวนมากกว่า ซึ่งเป็นทิศทางที่ดี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้มองว่าเรื่องนี้จะจบไปโดยเร็ว จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือภาคประชาชนในการดูแลตัวเอง และในแง่ของรัฐบาลปฏิบัติการเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดกลุ่มเข้มงวดสูงสุด
แต่ความเดือดร้อนก็ยังมีอยู่ ดังนั้น ครม.วันนี้จึงมีมติช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายค่าครองชีพให้ภาคประชาชนจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดย โครงการแรก คือ เราชนะ จะครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ 31.1 ล้านคน ซึ่งจะช่วยเงิน 3,500 บาท/คน เป็นเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท/คน โดยเมื่อคิดจากวันทำงาน 21 วันจะมีเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากรัฐวันละ 150-160 บาท หรือ 50% ของค่าแรงงานในปัจจุบัน
สำหรับกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการดังกล่าวรวม 2.1 แสนล้านบาท เป็นงบส่วนของเงินกู้และงบเยียวยาสถานการณ์โควิดผสมกัน ซึ่งรัฐบาลมีวงเงินเพียงพอเกือบ 5 แสนล้านบาท ยังเหลืออีก 3 แสนล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของ "เราชนะ" เน้นผู้ที่มีอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เหมือนกับโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" โดยรัฐบาลเล็งว่าหลักการของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือ คือ คนตัวเล็กที่ได้รับผลกระทบ และเม็ดเงินช่วยเหลือก็จะไปใช้ซื้อสินค้าและบริการจากคนตัวเล็กด้วยกัน เช่น แม่ค้า หาบเร่ แผงลอยที่ไม่ใช่นิติบุคคล
"โครงการ เราชนะ มีสิทธิมากกว่าคนละครึ่ง เพราะใช้ได้กับสินค้า รวมถึงบริการด้วย แต่จะต้องมีสถานที่ประกอบการชัดเจน และไม่เป็นนิติบุคคล"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ส่วนที่สอง คือ โครงการ "คนละครึ่ง" รอบเก็บตก จากทั้งเฟส 1 และเฟส 2 รวม 1.3 ล้านสิทธิ จากทั้งหมด 15 ล้านสิทธิ จะดำเนินการในเวลาใกล้เคียงกัน โดยเริ่มก่อนเราชนะ 1 สัปดาห์ เน้นผู้ที่ยังมีกำลังเงินที่พร้อมจะใช้จ่ายเพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศร่วมกัน โดยจ่ายครึ่งหนึ่งและรัฐจ่ายครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นคนตัวเล็กที่ได้รับสิทธิ เพราะคนตัวใหญ่ใช้โครงการ "ช้อปดีมีคืน" ไปแล้ว และให้สามารถนำเงินไปซื้อสินค้าจากคนตัวเล็กๆ ที่เป็นสมาชิกของโครงการ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ได้มีการอนุมัติให้โยกวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของวงเงินเพื่อการฟื้นฟู จำนวน 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีวงเงินในส่วนนี้เหลืออยู่ 2.6 แสนล้านบาท มาใส่ในวงเงินในส่วนของการเยียวย ที่ปัจจุบันเหลือวงเงิน 2.06 แสนล้านบาท ทำให้ในส่วนนี้มีวงเงิน 2.16 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการดำเนินโครงการเราชนะได้อย่างไม่มีปัญหา
ส่วนอนาคตหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ดีขึ้น จนทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติม ก็สามารถโยกวงเงินในส่วนงบฟื้นฟูมาใส่ในงบเยียวยาได้ตามความจำเป็น โดยเหตุผลที่ไม่สามารถโยกมาทั้งหมดได้ในครั้งเดียว เพราะกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการได้ตามความจำเป็น และต้องพิจารณาตามสถานการณ์เท่านั้น
"วงเงินดำเนินโครงการเราชนะที่ 2.1 แสนล้านบาทนั้น เป็นเพดานสูงสุดที่พิจารณาตามเกณฑ์ที่จ่าย 3,500 บาท 2 เดือน ให้กับ 31.1 ล้านคน แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในส่วนนี้จะมีเงินที่ได้รับอยู่แล้วตามเกณฑ์ที่รัฐบาลช่วยเหลือ เดือนละ 700 บาท และ 800 บาท ทำให้รัฐบาลเพียงแค่เติมเงินเข้าไปในกลุ่มนี้เพิ่มจนครบ 3,500 บาทต่อเดือนเท่านั้น ทำให้เป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว วงเงินที่จะใช้ในโครงการเราชนะ อาจจะอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท แต่การอนุมัติวงเงินเต็มเพดาน เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่อาจมีคนเข้ามาร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็จะได้ดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องขออนุมัติเพิ่ม หรือหากใช้วงเงินไม่หมดตามที่อนุมัติก็สามารถโยกเงินคืนกลับเข้าสู่งบฟื้นฟูได้" นายอนุชา กล่าว