นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษแก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งระยะเวลาการขออนุมัติสินเชื่อ สิ้นสุดลงเมื่อเดือนธ.ค.63 วงเงินอนุมัติแล้วมีจำนวนรวมกว่า 3,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม EXIM BANK จึงขานรับนโยบายจากภาครัฐ ขยายระยะเวลาขออนุมัติ "มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต" เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นวงเงินกู้ระยะยาว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อพัฒนาประเทศให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือต่อเติมปรับปรุงโรงงาน ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 2% ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 7 ปี รวมระยะเวลา Grace Period 1 ปี
"สามารถใช้หนังสือค้ำประกัน บสย. เป็นหลักประกันร่วมกับบุคคลค้ำประกันได้ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 4 ปี, ฟรีค่าธรรมเนียม Front-end Fee แถมวงเงิน Forward Contract 1.5 เท่าของวงเงินสินเชื่อ โดยขยายระยะเวลาให้บริการตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 มิถุนายน 2564" นายพิศิษฐ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การขยายระยะเวลาให้บริการมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจมาตรการของ EXIM BANK เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มเติมจากมาตรการพักชำระหนี้ เงินต้น-ดอกเบี้ย ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง และมาตรการฟื้นฟูกิจการลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของโควิด-19 เพื่อช่วยให้ลูกค้าและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการและเติบโตต่อไปได้
ขณะที่ธนาคารจะพิจารณาผ่อนผันและประคับประคองให้ลูกค้าที่มีปัญหาสภาพคล่อง สามารถยืดระยะเวลาคืนหนี้หรือได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ชะลอการเกิดหนี้ NPLs ในระบบธนาคาร และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ พร้อมรับโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป