นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวว่า ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 64 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และกระทบมาถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 64 ทำให้บริษัทปรับประมาณการภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 64 ลงมาเป็นติดลบ 3-10% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3-5% หรือทรงตัวจากปีก่อน
โดยผลกระทบที่ทำให้บริษัทปรับประมาณการภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 64 ลดลงมาเป็นติดลบ เพราะภาพรวมของกำลังซื้อยังมีการชะลอตัวอยู่ จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงปลายปี 63 ต่อเนื่องถึงเดือนม.ค. 64 ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางประเภท และในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่หายไป และกระทบมาถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 64 ที่อาจจะเติบโตได้ลดลงต่ำกว่า 2% หากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ใช้ระยะเวลายาวนานเกิน 1 เดือน
จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ส่งผลมาถึงการขายที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการในตลาดที่ชะลอตามไปด้วย แม้ว่าผู้ประกอบการจะสามารถระบายสต๊อกคงค้างในตลาดไปได้มากในปี 63 ที่ผ่านมา แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปีกระทบต่อการขายในช่วงต้นปีพอสมควร อีกทั้งแนวโน้มการเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการในตลาดอาจจะเพิ่มขึ้นไม่มากเพียง 5-6% ทำให้ไม่มีซัพพลายใหม่ๆเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาด ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายยังรอดูสถานการณ์อยู่
อย่างไรก็ตามหากภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรการออกมากระตุ้นกำลังซื้อและสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มองว่าจะส่งผลบวกต่อการขายของผุ้ประกอบการให้กลับมาฟื้นขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะการระบายสต๊อกที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ หากกำลังซื้อเริ่มฟื้นกลับมาในช่วงปลายไตรมาส 1/64 หรือตั้งแต่กลางปี 64 คาดว่าผู้ประกอบการในตลาดจะสามารถระบายสต๊อกออกไปได้ 6,000-6,500 หน่วย/เดือน ในปี 64 ซึ่งทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่หดตัวลดลงมาก
"การคาดการณ์ตลาดอสังหาฯในปี 64 ยังเป็นเรื่องยาก เพราะโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลต่อความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคตของคน คนที่อยากซื้อที่อยู่อาศัยก็อาจจะยังไม่มั่นใจ ทำให้การขายของผู้ประกอบการชะลอ แต่ทางด้านผู้ประกอบการก็เริ่มออกแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อออกมา แต่ก็ระยะต่อไปก็ต้องมีภาครัฐออกมาตรการเพิ่มเติมมาช่วย เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% มาช่วยกระตุ้น แม้ว่าดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่ความมั่นใจของคนก็ยังไม่กลับมาดีในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ตลาดอสังหาฯยังมีแรงกดดันอยู่บ้าง"นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว