นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)รฟม. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นประธาน วันที่ 20 ม.ค.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการออกผลิตภัณฑ์เที่ยวโดยสาร ( Pass) รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) หรือ Blue Line Pass : BL Pass และตั๋วเที่ยวสำหรับโดยสารร่วม สายสีน้ำเงินและสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) หรือ Multiline Pass : ML Pass โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 64 เป็นต้นไป
โดยตั๋วเที่ยว สายสีน้ำเงิน (Blue Line Pass) มีเงื่อนไขใช้เดินทางภายใน 30 วัน โดยเที่ยวโดยสาร 15 เที่ยว ราคา 450 บาท , เที่ยวโดยสาร 25 เที่ยว ราคา 700 บาท ,เที่ยวโดยสาร 40 เที่ยว ราคา 1,040 บาท ,เที่ยวโดยสาร 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท ปัจจุบัน รถไฟฟ้าMRT สายสีน้ำเงิน อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อเที่ยว
ส่วนตั๋วเที่ยว 2สาย ( Multiline Pass : ML Pass ) มีเงื่อนไขใช้เดินทางภายใน 30 วัน โดยเที่ยวโดยสาร 15 เที่ยว ราคา 810 บาท , เที่ยวโดยสาร 25 เที่ยว ราคา 1,300 บาท ,เที่ยวโดยสาร 40 เที่ยว ราคา 2,000 บาท ,เที่ยวโดยสาร 50 เที่ยว ราคา 2,250 บาท หรือมีอัตราเฉลี่ยต่ำสุดที่ 45 บาท สูงสุด 54 บาท
ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า ตั๋วเที่ยวจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางประจำ ซึ่งรฟม.เคยมีตั๋วเที่ยวใช้เมื่อปี 58 และได้มีการยกเลิกไปเมื่อส.ค. 60. ครั้งนี้ถือเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะที่การเดินทางข้าม สายสีม่วงกับสีน้ำเงิน. จะใช้ปริมาณผู้โดยสารครบปี มาพิจารณาส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานในปีนั้น
ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสาร MRT สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) เฉลี่ยอยู่ที่ 170,000-180,000 คน/วัน ลดจากช่วงก่อนโควิดระลอกใหม่ ที่มีถึง 390,000 คน ส่วน MRT สายสีม่วง มีผู้โดยสารเฉลี่ย 30,000 คน/วัน ลดลงจากช่วงก่อนโควิดระลอกใหม่ ที่มีเกือบ 60,000 คน
"ปัจจุบันมีเรื่องโควิด สถานการณ์ไม่ปกติ ข้อมูลจำนวนผู้โดยสารอาจจะไม่นิ่ง ยอมรับว่า อาจจะกระทบกับ ทางบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บ้าง แต่คาดหวังว่า สถานการณ์โควิดจะดีขึ้นในอนาคตและจะมีผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น"นายภคพงศ์ กล่าว