สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "หลักการร่างระเบียบ กกพ.ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) และร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า" ระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-4 ก.พ.64 โดยมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ารวม 150 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล มีปริมาณเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์/โครงการ รวม 75 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้า จากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสียน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25) มีปริมาณเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์/โครงการ รวม 75 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1. ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) 4.8482 บาท/หน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาท/หน่วย 2. ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) กรณีผสมน้ำเสียของเสียไม่เกินร้อยละ 25 มี FiT ที่ 4.7269 บาท/หน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษ อีก 0.50 บาท/หน่วย
สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการ (เบื้องต้น) การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายออกประกาศการยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ภายในเดือนก.พ.64 ,การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-2 เม.ย.64 ,การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค 30 เม.ย.64 ,การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพิจารณาข้อเสนอด้านราคาด้วยวิธี Competitive Bidding และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ วันที่ 31 พ.ค.64 ,ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 120 วัน หรือภายในวันที่ 28 ก.ย.64 ขณะที่กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 28 ก.ย.67
หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก
1.ไม่เป็นหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทในเครือที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยหุ้นอันเป็นทุนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง ถือโดยบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่ง (ให้แนบบัญชีผู้ถือหุ้น) มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย และมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า
2.ต้องเสนอรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ (1) บริษัทเอกชนถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 90 และ (2) วิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทำหน้าที่ปลูกพืชพลังงานจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้า ถือหุ้นบุริมสิทธิในสัดส่วนร้อยละ 10 เช่น หุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสม (Cumulative Preferred Stock) หรือหุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่สะสม (Non-Cumulative Preferred Stock) หรือหุ้นบุริมสิทธิชนิดร่วมรับ (Participating Preferred Stock) เป็นต้น
3.วิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของกรมส่งเสริมการเกษตรจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และมีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน หากได้รับการคัดเลือก วิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และจดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับบริษัทเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
4.แต่ละโครงการที่เสนอต้องเลือกใช้เชื้อเพลิง อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ (1) ชีวมวล (2) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสียน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25) และต้องระบุขนาดกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกินที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายรับซื้อได้ พร้อมทั้งร้อยละของปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายที่ยินยอมให้ปรับลดลงได้
5.ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก และ/หรือบริษัทในเครือเดียวกัน มีประสบการณ์ในประเทศไทย ด้านการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ
6.โครงการที่ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ หรือโครงการ ดังต่อไปนี้
(1) โรงไฟฟ้าที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังมีผลใช้บังคับ ณ วันที่ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า
(2) โครงการที่เป็นผู้ได้รับคัดเลือก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
(3) โครงการที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายคู่สัญญา (หากจะยื่นเสนอขายไฟฟ้าต้องทำการถอนฟ้องให้เรียบร้อยก่อนการยื่นข้อเสนอ)
7.ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น
8.ผู้ยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก และผู้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะต้องเป็นนิติบุคคลเดียวกัน โดยต้องมีเอกสารแสดงผลการตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายที่สามารถรับซื้อได้จากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
9.ในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอโครงการให้บริษัทเอกชนยื่นข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์หรือ MOU หรือเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงการแบ่งผลประโยชน์ ได้แก่ ส่วนที่ 1 หุ้นบุริมสิทธิร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และส่วนที่ 2 ผลประโยชน์อื่นๆ สำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
10.เมื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ต้องจัดส่งข้อมูลให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่เป็นคู่สัญญา ดังนี้ (1) หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าราย 15 นาที (2) หน่วยผลิตไฟฟ้าและข้อมูลปริมาณการใช้เชื้อเพลิงรายเดือน โดยแยกเป็นเชื้อเพลิงพืชพลังงานที่จัดหาจากเกษตรพันธสัญญาและส่วนที่จัดหาเอง
สำหรับหลักเกณฑ์ความพร้อมด้านเทคนิค ได้แก่ 1. ความพร้อมด้านที่ดิน 2. ความพร้อมด้านเทคโนโลยี 3. ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง โดยต้องมีแผนจัดหาเชื้อเพลิงอย่างเพียงพอตลอดอายุโครงการ 20 ปี และเชื้อเพลิงจากการปลูกพืชพลังงานจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ให้รับซื้อจากวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โดยต้องทำสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) เชื้อเพลิงจำนวนไม่เกินร้อยละ 20 ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากสามารถจัดหาเองได้ โดยอาจจะรับซื้อเชื้อเพลิงจากที่อื่น หรือสามารถปลูกเองได้ 4. ความพร้อมด้านแหล่งเงินทุน และ 5.ความพร้อมด้านอื่น ๆ เช่น การบริหารน้ำ และต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เป็นต้น
การพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้า ในด้านการแข่งขันราคา จะพิจารณาจาก
1. ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจะต้องเสนออัตราส่วนลดจาก Feed-in Tariff ในส่วนคงที่ (FiTF) พร้อมกับข้อเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โดยใส่ซองปิดผนึกให้มิดชิด
2. ข้อเสนอด้านราคาจะถูกเรียงลำดับจากอัตราส่วนลดของ FiTFจากมากไปหาน้อย โดยผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่เสนออัตราส่วนลดมากจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกโดยคำนึงถึงศักยภาพระบบไฟฟ้า และปริมาณตามเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าก่อน ตามลำดับ
3. กรณีคำเสนอขอขายไฟฟ้ามี Feeder ทางเลือก ให้พิจารณา Feeder ที่สามารถรองรับปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดตามข้อเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นลำดับแรก หากปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายสูงสุดยังเกินกว่าศักยภาพระบบไฟฟ้าคงเหลือ ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ยินยอมให้ปรับลดปริมาณเสนอขายไฟฟ้าจะได้รับการคัดเลือกได้ไม่เกินศักยภาพระบบไฟฟ้ารองรับได้
ทั้งนี้ กกพ.มีข้อกำหนดให้เอกชนผู้ถือหุ้นรายเดิมตามคำเสนอขอขายไฟฟ้า ต้องคงสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 จนกว่าจะเริ่ม COD แล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี