กมธ.คลังแนะปรับร่างพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพิ่มวงเงินเป็น 3-4 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 12, 2007 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กรรมาธิการการคลังฯ เห็นด้วยหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ช่วยลดภาระรัฐในการนำงบประมาณไปอุ้มแบงก์พาณิชย์ที่อ่อนแอ และจะช่วยสร้างระบบธนาคารพาณิชย์ให้เข้มแข็งขึ้น แต่แนะเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็น 3-4 ล้านบาทเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมเสนอจัดทำฐานข้อมูลธนาคารพาณิชย์ก่อนให้ผู้ฝากตัดสินใจ
นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วนั้น คณะกรรมาธิการฯ เห็นด้วยในหลักการที่จะต้องลดวงเงินการค้ำประกันเงินฝากลง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อช่วยอุดหนุนสถาบันการเงินที่ไม่มีความมั่นคงเพียงพอ
"โดยหลักการก็เป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาเราต้องเอาเงินเข้าไปอุดหนุนสถาบันการเงินที่มีปัญหา หนี้ที่กองทุนฟื้นฟูมีอยู่ขณะนี้ 1.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้ายังไม่หยุดการค้ำประกันเงินฝาก หากภายหน้าสถาบันการเงินมีปัญหาอีก ก็จะต้องเพิ่มทุนเข้าไปให้อีก" นายสมชาย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
*แนะเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็น 3-4 ลบ./ราย
นายสมชาย เห็นว่า สาระสำคัญที่ควรจะทบทวนในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการกำหนดวงเงินขั้นสูงที่ผู้ฝากเงินจะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งควรจะปรับเพิ่มเป็น 3-4 ล้านบาท/ราย/ธนาคาร จากในร่างกฎหมายนี้กำหนดให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องให้ความคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินแต่ละรายในแต่ละสถาบันการเงินตามจำนวนเงินที่ฝากไว้ในทุกบัญชีรวมกัน แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท
พร้อมกับมีบทเฉพาะกาลว่าให้เป็นหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะต้องออก พ.ร.ฎ.กำหนดจำนวนเงินคุ้มครองเงินฝากให้สูงกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนี้ได้สำหรับระยะเวลา 4 ปีแรก ของการบังคับใช้ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
"หลายคนคิดว่าน่าจะเพิ่มขึ้น เพราะ 1 ล้านบาทเป็นฐานสำหรับคนที่มีเงินออมน้อย ถ้าจะให้ cover คนที่มีเงินเดือน คนชั้นกลาง ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกหน่อยเป็น 3-4 ล้านบาท ก็จะครอบคลุมข้าราชการที่เกษียณอายุ หรือพวกพนักงานบริษัท รัฐวิสาหกิจด้วย" นายสมชาย กล่าว
โดยข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ณ สิ้นมิ.ย.50 มีบัญชีที่มียอดเงินฝากสูงเกินกว่า 1 ล้านบาท เพียง 879,684 บัญชี หรือคิดเป็น 1.23% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด 71.34 ล้านบัญชี
*เชื่อลูกค้าได้ประโยชน์ทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้
นายสมชาย มองว่า ในภาพรวมแล้วร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะเป็นประโยชน์กับผู้ฝากเงินและระบบสถาบันการเงินในอนาคต เนื่องจากธนาคารที่มีสถานะการเงินอ่อนแอนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารขนาดเล็กเสมอไป เพราะจะต้องแข่งขันเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อดึงดูดลูกค้าไม่ให้ย้ายไปฝากเงินกับธนาคารที่สถานะการเงินแข็งแกร่งกว่า หลังจากที่ธนาคารเหล่านี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากจากรัฐบาลแล้ว
นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ธนาคารที่มีความอ่อนแอกว่าจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับธนาคารที่มีความแข็งแกร่งได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยให้มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงขึ้น
"สิ่งที่เขาต้องทำคือปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้อ่อนแอ เพราะถ้าอ่อนแอจะมีปัญหาต้นทุนสูงกว่า อันนี้คือการบังคับให้ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพแบงก์ ไม่ใช่ว่าล้มไม่ได้ แล้วก็มาเอาเงินรัฐบาลไปอุด ถ้าไม่ปรับปรุงก็อยู่ไม่ได้ แต่มันก็ดีสำหรับประชาชน คือไม่ต้องเอาเงินภาษีที่ได้จากเราไปช่วยแบงก์ไหนอีกแล้ว ผู้ฝากเงินก็ได้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้น ผู้กู้ก็เสียดอกเบี้ยระยะยาวน้อยลง ขณะเดียวกันแบงก์ทั้งระบบก็จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น" นายสมชาย กล่าว
*เสนอทำฐานข้อมูลธนาคารให้ลูกค้าตรวจสอบความมั่นคง
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอแนะคือในอนาคตควรจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ได้ เช่นเดียวกันที่ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของลูกค้าได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงินใช้ประกอบการพิจารณาถึงความมั่นคงของธนาคารนั้นๆ ก่อนตัดสินใจที่จะฝากเงิน
"เท่าที่คุยกันในกรรมาธิการ เราเสนอไปข้อหนึ่งว่า เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้ว สิ่งที่ควรจะทำอย่างยิ่งคือ ทางราชการควรมีมาตรการที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถาบันการเงิน เป็นข้อมูลที่ดูง่ายๆ ว่าแบงก์ไหนมีความมั่นคงทางการเงินมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าให้ไปดูงบดุลคงลำบาก เพื่อให้ผู้ฝากเงินตัดสินใจเอาเองว่าจะเลือกฝากเงินกับแบงก์ไหน มันเหมือนกับเครดิตบูโร ที่ให้แบงก์เข้าถึงข้อมูลลูกค้า และอีกหน่อยก็ควรให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลของแบงก์ได้ด้วยเช่นกัน" นายสมชาย กล่าว
ทั้งนี้คาดว่าหลังจากวันที่ 14 ก.ย.ที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้จัดประชุมและทำความเข้าใจกับสมาชิก สนช.ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในร่างกฎหมายการเงินทั้ง 4 ฉบับอย่างถูกต้องตรงกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. เงินตรา, พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน, พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จึงจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.ได้ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเสนอให้พิจารณาพร้อมกันทั้งหมด ฉบับไหนพร้อมก่อนก็เสนอเข้าก่อนได้ โดยคาดว่าน่าจะนำเข้าที่ประชุม สนช.ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้หรืออย่างช้าไม่เกินกลางเดือน ต.ค.นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ