นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ปริมาณผลผลิตน้ำยางสดที่ออกสู่ตลาดเริ่มลดลง ผลจากสวนยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเริ่มทิ้งใบเข้าสู่ฤดูปิดกรีดยาง ขณะที่ความต้องการใช้ยางทั้งในและต่างประเทศยังคงสูง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงดำเนินมาตรการกระตุ้นการดึงน้ำยางสดออกจากตลาดได้กว่า 200,000 ตัน/ปี ทั้งมาตรการกระตุ้นการซื้อน้ำยางสดมาแปรรูป เดินหน้าโครงการการชะลอยาง
รวมถึงบทบาทของหน่วยธุรกิจของ กยท. ที่เร่งเดินหน้าหาผู้ซื้อต่างประเทศ ตอนนี้มีผู้ซื้อจากหลายประเทศสนใจสั่งซื้อยางแปรรูปของไทย โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่สนใจสั่งซื้อน้ำยางสดและน้ำยางข้น เพื่อนำเข้าไปผลิตเป็นถุงมือยาง ดังนั้น มาตรการทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ราคายางในตลาดสูงและมีเสถียรภาพขึ้น
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กยท. กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นการดึงน้ำยางสดออกจากตลาดว่า กยท. ดำเนินการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้รวบรวมน้ำยางสด เพื่อชะลอการขาย รอจังหวะที่เหมาะสมแล้วขาย ซึ่ง กยท.จะจัดหาอุปกรณ์แทงค์เก็บน้ำยางสดพร้อมสารเคมีสำหรับยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำยางสดให้คงคุณภาพไว้ได้ 1- 2 เดือน ให้สถาบันเกษตรกร ทั้งนี้ สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนรวบรวมน้ำยางสดมาจัดเก็บตามมาตรการดังกล่าว และเมื่อต้องการขายน้ำยางสดที่สต๊อคไว้ ก็สามารถขายให้ กยท. ได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายสามารถดึงน้ำยางออกจากตลาดได้กว่า 100,000 ตัน
ส่วนโครงการชะลอยาง ได้ดำเนินงานตั้งแต่เดือน ต.ค.63 ซึ่งเป็นการชะลอการขายยาง โดยเก็บไว้ขายในช่วงที่ราคามีความเหมาะสมหรือเมื่อสถาบันเกษตรกรพอใจ ซึ่งตอนนี้ได้เพิ่มน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน เข้ามาในโครงการด้วย โดยคาดว่าจะสามารถชะลอยางได้กว่า 50,000 ตัน โดยเป็นน้ำยางสด ประมาณ 23,000 ตัน
นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง ผลิตยางแผ่นดิบคุณภาพดี ตามแนวทาง "นวัตกรรมยางแผ่นดิบสั่งตัด" เพื่อสร้างทางเลือกในการผลิตยางที่มีมูลค่าสูงกว่า ทำให้สามารถเลือกขายในช่วงราคาที่สูงได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณยางน้ำยางสดที่ออกสู่ตลาดในแต่ละวันได้อีกทางหนึ่ง ที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดสู่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ จ.พังงา ซึ่งสามารถผลิตยางแผ่นดิบคุณภาพดี และจัดตั้งตลาดเครือข่ายประมูลยาง จนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน