นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ว่า โครงการ "เราชนะ" ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติไปล่าสุดว่า เชื่อว่าโครงการไทยชนะ จะมีคนสนใจมาก จึงได้เตรียมความพร้อมในการเพิ่ม capacity ไว้ 2-3 เท่าในการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ซึ่งจะเปิดลงทะเบียนตั้งแต่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.นี้
โดยการคัดกรองข้อมูลของประชาชนในโครงการ "เราชนะ" จะแบ่งไว้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.กลุ่มที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และ 3.กลุ่มที่ไม่ได้มีฐานข้อมูลอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่มีแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง
สำหรับในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะไม่ต้องลงทะเบียนใหม่แล้ว ให้รอรับเงินโอนรอบแรกคือ 5 ก.พ. ส่วนกลุ่มที่มีแอปฯ เป๋าตังอยู่แล้ว จะตรวจสอบข้อมูลให้ก่อน แล้วจะเปิดให้เข้าไปตรวจสอบสิทธิทางเว็บไซต์ เราชนะ ในวันที่ 5 ก.พ. ถ้าเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ ก็จะได้รับเงินโอนงวดแรกวันที่ 18 ก.พ.รวม 2,000 บาท ซึ่งเป็นการตกเบิกรวมกันของสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองของเดือนก.พ. จากนั้นจะได้รับสัปดาห์ละ 1,000 บาท ไปจนครบ 7,000 บาท
ส่วนกลุ่มที่สาม ซึ่งไม่ได้มีฐานข้อมูลในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่มีแอปพลิเคชั่นเป๋าตังมาก่อน จะต้องมาลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.64 และสามารถเข้าไปตรวจสอบสิทธิได้ในวันที่ 8 ก.พ. หากผ่านคุณสมบัติ ก็จะได้รับเงินโอนเข้าแอปเป๋าตังครั้งแรกในวันที่ 18 ก.พ. 2,000 บาท ซึ่งเป็นตกเบิกจาก 2 สัปดาห์รวมกัน
"กลุ่มที่ 3 นี้ขอให้สำรวจตัวเองก่อนว่าเข้าเงื่อนไข 1 ใช่ 6 ไม่ ใน 7 ข้อหรือไม่ ถ้ามีคุณสมบัติตามนั้นที่จะเข้าร่วมโครงการเราชนะได้ แต่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือเป็นผู้ที่ไม่มีความสามารถในการมีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งก็เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ จะมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งธนาคารของรัฐ ก็พร้อมจะช่วยในเรื่องการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการให้ได้" นายพรชัยระบุ
นายพรชัย กล่าวว่า โครงการ"เราชนะ"นี้ ผู้ได้รับสิทธิจะสามารถใช้จ่ายกับร้านค้าหรือผู้ให้บริการได้ครอบคลุมมากกว่าโครงการ "คนละครึ่ง" เพราะในโครงการเราชนะ จะสามารถซื้อสินค้าได้จากทั้งร้านธงฟ้า และร้านที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และผู้ให้บริการรถโดยสารส่วนบุคคล เช่น รถแท็กซี่ และมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง
"การที่เพิ่มให้สามารถใช้บริการแท็กซี่ วินมอร์เตอร์ไซค์ได้ ก็เพื่อต้องการให้ลดความเสี่ยงจากการแออัดในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่วนกรณีของรถโดยสารสาธารณะคงจะพิจารณาแนวทางในอนาคตต่อไป" นายพรชัยกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่ให้บริการรถโดยสารส่วนบุคคลดังกล่าวที่ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการในโครงการ "เราชนะ"แล้ว จะได้รับสติ้กเกอร์ และต้องติดแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน รวมทั้งจะต้องเตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสาร ในการเดินทางได้อย่างปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากโควิด
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ธนาคารฯ ได้ตระหนักถึงการให้ความสนใจของประชาชนอย่างมากในการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ จึงได้ประสานงานกับผู้ให้บริการเครือข่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย โดยมั่นใจว่าว่าระบบจะรองรับการลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.64
"เรามีประสบการณ์แล้ว จากทั้งตอนโครงการคนละครึ่ง เฟส 1 และ เฟส 2 ซึ่งเฟสแรก ระบบรองรับการเข้าลงทะเบียนพร้อมกันที่ 4 แสนราย/วินาที ส่วนเฟสสอง ขยาย capacity เป็น 8 แสนราย/วินาที และในโครงการเราชนะ จะเพิ่มเป็น 1.6 ล้านราย/วินาที เพราะเราตระหนักถึงความสนใจของประชาชนที่จะมาลงทะเบียน จึงได้ประสานและซักซ้อมกับ Operator ผู้ให้บริการทั้ง 3 เครือข่ายไว้แล้ว" นายผยงกล่าว
สำหรับโครงการ "เราชนะ" ซึ่งได้เพิ่มผู้ให้บริการในกลุ่มรถโดยสารส่วนบุคคล คือ แท็กซี่ และมอร์เตอร์ไซค์รับจ้างด้วยนั้น ขอให้ผู้ที่ต้องการร่วมโครงการ เข้าไปลงทะเบียนในฝั่งของผู้ให้บริการอิสระรายบุคคล ซึ่งถ้ายังไม่มีแอปพลิเคชั่น "ถุงเงิน" ให้ไปเปิดบัญชีกับธนาคารกรุงไทยไว้ และธนาคารจะประสานเรื่องการโหลดแอปฯ ดังกล่าวไว้ให้ แต่ถ้าหากมีแอปถุงเงินอยู่แล้ว ก็สามารถเข้าเป็นผู้ให้บริการในโครงการเราชนะได้เลย