นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC ) โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) และ นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า การเดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ถือเป็นก้าวสำคัญ เสริมความแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากสำคัญของประเทศ บันทึกความร่วมมือฉบับนี้จะพัฒนาโครงการฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดย ปตท. ที่มีความพร้อมด้านห้องเย็น จะนำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร กนอ. จะสนับสนุนการจัดหาพื้นที่ และ สกพอ. จะประสานความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบห้องเย็น ให้บริการเก็บรักษา สินค้าคุณภาพดี สดใหม่ และรสชาติยังดีคงเดิม ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง เมื่อโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกสำเร็จ ชาวสวนจะมีรายได้ดีมั่นคง สม่ำเสมอ รวมทั้งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตรแข่งขันได้ทั่วโลก เสริมความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการจัดทำระบบห้องเย็น ซึ่งเป็นโครงการหลักของโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ให้สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยมอบให้ กนอ. จัดหาที่ดินในโครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในระยะเริ่มต้น 40 ไร่ โดยมั่นใจว่าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชาวสวนแล้ว ยังจะดึงดูดให้อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เข้ามาลงทุนในนิคมฯ เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นายคณิศ กล่าวว่า โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC ที่ปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตาม "ความต้องการของตลาด" (Demand Driven Approach) คือ การวางธุรกิจทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ ไปกำหนดวางวิธีการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องของตลาด ในขณะเดียวกัน ก็จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยให้เกิดการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต โดยโครงการ EFC จึงประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ
1.ศึกษา ติดตาม ความต้องการของตลาด ในเรื่องนี้ สกพอ. กำลังศึกษาความต้องการตลาดต่างประเทศและในประเทศ ของ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ของภาคตะวันออก เป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 64 เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ
2.การวางระบบการค้าสมัยใหม่ จะเป็นการค้าผ่าน e-commerce และ e-auction รวมทั้งการลงทุน packaging จากวัสดุธรรมชาติ ให้สามารถขนส่งทางอากาศได้สะดวก เพื่อให้ผลไม้ของภาคตะวันออกเข้าสู่ตลาดสากลได้ทันที
3.การลงทุนทำห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นโครงการที่เราจะลงนาม MOU ในวันนี้
4.การจัดระบบสมาชิก ชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ ที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตพรีเมียมตรงความต้องการของตลาด เรื่องนี้ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง และจะส่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรโดยถ้วนหน้า
ความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ฝ่ายคือ
1)ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนจัดทำระบบห้องเย็นทันสมัยขนาด 4,000 ตัน ส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยี Blast freezer เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และระบบ Cold storage ที่จะรักษาคุณภาพผลไม้นั้นให้ขายได้ตลอดปี ไม่ต้องรีบส่งตัด-รีบขาย-รีบส่ง เช่นในปัจจุบัน
2.การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.)จะเป็นผู้หาพื้นที่ โดยกำหนดว่าจะเป็นพื้นที่บริเวณ Smart Park ที่มาบตาพุด
3.สำนักงาน EEC จะเป็นผู้วางกลไกการบริหาร และประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาบริหารโครงการ โดยเฉพาะ เอกชนผู้เชี่ยวชาญการค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประโยชน์จากโครงการกลับไปสู่ประชาชนในพื้นที่ โครงการนี้จะนำร่องด้วยทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ของไทย รวมทั้งผลไม้อื่นๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหารทะเล ที่ต้องการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้สดใหม่ สีสรรน่ารับประทาน และสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกรไทย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กิจกรรมแปรรูป การประมูลสินค้า และการส่งออก ต่อไป
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ ทั้งสามฝ่ายเห็นร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบห้องเย็น และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เน้นการให้บริการแก่ภาคเกษตร เพื่อเก็บรักษาและคงคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากการใช้ห้องเย็น ในการสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในการเป็นมหานครผลไม้ของภูมิภาค โดยการจัดทำระบบทำความเย็น มีความสำคัญและจำเป็นมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีไม่เพียงพอกับปริมาณของผลผลิตที่ออกมา
ซึ่งการพัฒนาโครงการฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กนอ. และ ปตท.ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดย สกพอ.จะส่งเสริม สนับสนุนโครงการพัฒนาระบบห้องเย็น และโครงสร้างพื้นฐาน และสนันสนุนด้านสิทธิประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินงานกับ ปตท.รวมทั้งจะจัดหาเกษตรกร ภาคเอกชนและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับ Supply Chain ของคลังสินค้าความเย็นทั้งหมด เช่น การคัดแยก การเช่าห้องเย็น การบริหารขนส่ง เป็นต้น
นางสาว สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.พร้อมสนับสนุนในการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ที่ปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง TOR งานก่อสร้าง และเตรียมนำเสนอคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองและคณะกรรมการ กนอ.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนเผยแพร่ TOR เพื่อให้มีการประกวดราคาและคัดเลือกผู้ผ่านเกณฑ์งานก่อสร้างและควบคุมงาน โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจนได้ผู้รับเหมาก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2564
"นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค นอกจากเป็นนิคมฯ ที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่างๆ มีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ"
ขณะเดียวกัน ปตท.จะทำการศึกษาและพิจารณาการใช้ระบบทำความเย็นที่เหมาะสมกับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มหรือการขายนอกฤดูกาล รวมทั้งออกแบบทางด้านเทคนิคสำหรับห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน (ในระยะที่ 1) โดยเป็นห้องเย็นในรูปแบบของ Multi-block Model และ Multi Purposes ที่สามารถรองรับทุเรียนหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้องเย็นให้มีการกระจายขายได้ตลอดทั้งปี