ฟิทช์ เรทติ้งส์ มองว่าการกลับคืนสู่ภาวะปกติของการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาแม้จะอยู่ในกลุ่มอ่อนไหวต่อกระแสเศรษฐกิจโลก แต่ก็ถือว่ามีความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนโลก มองแบงก์พาณิชย์ไทยได้รับผลกระทบจากซับไพร์มค่อนข้างต่ำ
นาย James McCormack หัวหน้าทีมจัดอันดับเครดิตของประเทศในเอเชีย บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศไทยว่า การที่ประเทศไทยมีการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศต่ำ และดุลการค้ามีส่วนสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความอ่อนไหวค่อนข้างสูงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังไม่มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลกระทบของอันดับเครดิตของประเทศ
นาย McCormack กล่าวอีกว่า ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคมีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน เนื่องจากมีระดับเงินทุนสำรองต่างประเทศที่สูง ดุลการชำระเงินที่แข็งแกร่ง และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น แต่ประเทศในเอเชียยังมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ผู้ดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงในเงินลงทุนที่เข้ามาในประเทศ
ขณะที่นาย David Marshall หัวหน้าทีมวิเคราะห์สถาบันการเงินแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวถึงระดับการลงทุนของธนาคารในภูมิภาคเอเชีย แปซิ ฟิก ในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อด้อยคุณภาพในตลาดอเมริกาว่า จากการสำรวจของฟิทช์พบว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพดังกล่าวค่อนข้างกระจายตัวและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับส่วนทุนของธนาคาร
ธนาคารที่ลงทุนในตราสารดังกล่าวมากที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนทุนคือไทยธนาคาร ซึ่งลงทุนคิดเป็นร้อยละ 21 ของส่วนทุนของธนาคาร ตามมาด้วย Bank of China ซึ่งลงทุนคิดเป็นร้อยละ 17 ของส่วนทุนของธนาคาร (ถึงแม้ว่าเมื่อดูเป็นจำนวนเม็ดเงิน Bank of China ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ถึงหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ไทยธนาคารลงทุนห้าสิบล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) ระดับการลงทุนของ Bank of China ดังกล่าวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าผลกำไรจากการประกอบการในแต่ละปีของธนาคาร และการลงทุนส่วนใหญ่ก็ลงในหลักทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ‘AAA’ หรือ ‘AA’ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิดผลขาดทุนมากนัก
นาย Marshall ยังกล่าวอีกว่า ฟิทช์คิดว่าผลกระทบโดยตรงอันเนื่องมาจากการลงทุนของธนาคารเอเชียในหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐอเมริกา น่าจะมีจำกัด
แต่ฟิทช์ยังมีความกังวลว่าปัญหาตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลกระทบทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารในเอเชียเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้วงเงินเสริมสภาพคล่องให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ออกตราสารหนี้ระยะสั้น (conduit) ที่ลงทุนในตราสารเหล่านี้, ผลกระทบจากการขาดทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการของธนาคาร และผลกระทบจากการขาดทุนเนื่องจากการด้อยค่าของตราสาร CDO หรือตราสาร structured securities อื่นๆ ที่แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี แต่มูลค่าทางการตลาดตกลงเนื่องจากการขาดสภาพคล่องในตลาด
นาย Vincent Milton กรรมการผู้จัดการบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ว่าผลการประกอบการของธนาคารและบริษัทภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะลดลงจากปีก่อนจากการเติบโตภายในประเทศที่อ่อนตัวลง แต่ส่วนใหญ่แล้วธนาคารหรือบริษัทต่างๆเหล่านี้มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้นที่จะรับมือกับปัจจัยลบต่างๆของตลาด ในปี 2551 ที่จะถึงนี้ หากการใช้จ่ายจากการบริโภคและการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ ย่อมทำให้ผลการประกอบการฟื้นตัวขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม นาย Milton กล่าวอีกว่าธนาคารและบริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็กกว่าจะเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--