นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนธ.ค. 63 มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการมีจำนวน 6,013 ราย เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับธ.ค. 62 ที่มีจำนวน 5,666 ราย แต่หากเทียบกับพ.ย.63 ที่มีจำนวน 2,457 ราย เพิ่มขึ้น 145% ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกกิจการของปี 63 มีจำนวน 20,920 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 91,859 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
โดยปี 63 ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,830 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,081 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 594 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 14,438 ราย คิดเป็น 69.01% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 5,434 ราย คิดเป็น 25.98% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 965 ราย คิดเป็น 4.61% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 84 ราย คิดเป็น 0.40% ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือน ธ.ค.63 มีจำนวน 3,287 ราย เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง -27% จากพ.ย.63 ที่มีจำนวน 4,479 ราย ส่งผลให้ภาพรวมปี 63 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 63,340 ราย ลดลงจำนวน 8,145 ราย คิดเป็น 11% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีจำนวน 71,485 ราย และลดลงจำนวน 8,769 ราย คิดเป็น 12% เมื่อเทียบปี 61 ที่มีจำนวน 72,109 ราย
ขณะที่มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในปี 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 235,272 ล้านบาท ลดลงจำนวน 92,192 ล้านบาท คิดเป็น 28% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีจำนวน 327,464 ล้านบาท และลดลงจำนวน 139,012 ล้านบาท คิดเป็น 37% เมื่อเทียบกับปี 61 ที่มีจำนวน 374,284 ล้านบาท
นายทศพล กล่าวว่า ปัจจุบันมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศล่าสุดจำนวน 769,208 ราย มูลค่าทุน 19.17 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 187,015 ราย คิดเป็น 24.31% บริษัทจำกัด จำนวน 580,911 ราย คิดเป็น 75.52% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,282 ราย คิดเป็น 0.17% ตามลำดับ
หากจำแนกตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 452,938 ราย คิดเป็น 58.88% รวมมูลค่าทุน 0.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.09% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 227,977 ราย คิดเป็น 29.64% รวมมูลค่าทุน 0.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 3.95% ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 72,225 ราย คิดเป็น 9.39% รวมมูลค่าทุน 1.97 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.29% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 16,068 ราย คิดเป็น 2.09% รวมมูลค่าทุน 16.04 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.67% ตามลำดับ
นายทศพล กล่าวว่า ยอดรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 63 มีทั้งสิ้น 63,340 ราย ลดลง 8,145 ราย หรือลดลง 11% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีจำนวน 71,485 ราย ซึ่งอยู่ในเป้าหมายที่กรมได้ประเมินไว้ว่าทั้งปี 63 จะมียอดตั้งใหม่อยู่ที่ 63,000-64,000 ราย เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีการล็อกดาวน์ช่วงเดือนมี.ค.-ก.ค.63 ผู้ประกอบการจึงชะลอทำธุรกิจ
"การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เดือนธ.ค.63 ที่มีจำนวนน้อยลง ถือเป็นปกติของการจดทะเบียนทำธุรกิจใหม่ในช่วงปลายปี ที่ยอดตั้งใหม่มักจะลดลง เพราะผู้ประกอบการไม่ต้องการทำบัญชีและส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 63 จะชะลอการจดทะเบียน เพื่อมาจดจัดตั้งในช่วงต้นปี คาดว่าการจดทะเบียนตั้งใหม่ จะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค.64 เป็นต้นไป
ส่วนยอดเลิกที่มีมากที่สุดในรอบปีนั้น เพราะต้องการทำบัญชีให้แล้วเสร็จภายในรอบปีบัญชี ไม่ต้องการให้เป็นภาระในรอบปีถัดไป และยังมีปัญหาโควิด-19 ทำให้ชะลอการจดเลิกระหว่างปี และมาจดเลิกในเดือนสุดท้ายของปีแทน" นายทศพล กล่าว
สำหรับในปี 2564 กรมฯ ตั้งเป้าหมายจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ที่ 64,000-66,000 ราย เพราะหลายฝ่ายประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีทิศทางดีขึ้น และเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตเริ่มจะกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัว แต่ยังต้องระวังโควิด-19 ที่จะกลับมาระบาดใหม่ แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดูแลได้