นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวในปี 64 ยังอาจจะไม่ฟื้นตัวเพราะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม เนื่องจากยังมีโอกาสที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วสามารถกลับมาติดเชื้อได้ และการกระจายวัคซีนในประเทศไทยยังคงต้องใช้ระยะเวลา แม้จะมีความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐในกลางเดือนก.พ. 64 แต่ยังมีปริมาณไม่มาก คนไทยกว่าครึ่งอาจจะต้องรอไปถึงต้นปี 65 ซึ่งกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศมองว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปี หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่คงยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เพราะกำลังซื้อในประเทศลดลง ทำให้คนในประเทศเริ่มชะลอการใช้จ่ายและท่องเที่ยว ทำให้ภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวต่อเนื่องจากปีก่อน ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร และบริษัททัวร์ต่างๆ
"ภาคการท่องเที่ยวคงใช้ระยะเวลาการฟื้นตัวอีกนาน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยคงต้องรออีก 2-3 ปี กว่าต่างชาติจะกลับไปที่ 40 ล้านคน เหมือนก่อนโควิด-19 และนักท่องเที่ยวไทยก็ฟื้นตัวอีกทีปลายปีแต่คงไม่มาก เพราะรายได้คนก็ลดลง ทำให้คนประหยัดกันมากขึ้น ทำให้ภาคท่องเที่ยวเป็นปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจในปีนี้ค่อนข้างมาก และโควิด-19 ก็คงจะต้องอยู่กับเราไปถึงกลางปีหน้ากว่าจะคลี่คลายลงชัดเจน ซึ่งปีนี้ทั้งปีก็ยังต้องเห็นจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ตลอดทั้งปี เพราะภาครัฐไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดเหมือนครั้งแรก"นางสาวกิริฎา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออก ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น จึงเป็นแนวโน้มที่ดีให้ดับภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ให้พลิกกลับมาเป็นบวกได้ 5-6% จากปีก่อนติดลบไป 6% แม้ว่าจะเผชิญกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีทิศทางอ่อนค่าหลังจากสหรัฐฯมีการพิมพ์เงินออกมามากในการทำมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยประเมินว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอีกสักพักใหญ่
ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นอีกปัจจัยหนุนที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ออกมาเร็วขึ้น และการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 63 ภาครัฐได้ใช้ไปไม่มากเพียง 30% ของวงเงินกู้ และหากรวมวงเงินงบประมาณจากหน้วยงานต่างๆยังถือว่ามีอยู่อีกมากกว่า 4.4 ล้านล้านบาท ทำให้ภาครัฐยังมีศักยภาพในการนำเงินออกมาใช้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนอื่นๆเข้ามาชดเชยในภาวะที่ยังต้องอยู่กับโควิด-19 พร้อมกับสนับสนุนการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของผู้ประกอบการในและต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 คลี่คลายไป และเป็นช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อประเทศไทยในระยะยาว
"โอกาสในการฟื้นตัวกลับไปเหมือนก่อนช่วงโควิด-19 ของเศรษฐกิจไทย คงต้องรอไปถึงปี 66 จนกว่าโควิด-19 จะจบลง เศรษฐกิจเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน เริ่มเปิดประเทศให้นักท่งอเที่ยวกลับมา ทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นขึ้น และความมั่นใจของคนในประเทศกลับมาดีขึ้น กำลังซื้อเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้นมา ในช่วง 1-2 ปีนี้เราก็ยังอยู่กับภาวะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์การติดเชื้อจะหายไป"นางสาวกิริฎา กล่าว