ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กลับต้องมาเผชิญกับผลกระทบอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ แต่เนื่องจากการผ่อนปรนในเรื่องของเกณฑ์การจัดชั้นหนี้หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ รวมถึงการจัดการในเชิงรุกในการดูแลปัญหาหนี้เสียและการตัดหนี้สูญของระบบธพ. ทำให้คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ ในปี 2564 อาจจะทยอยขยับขึ้นไปที่ระดับประมาณ 3.53% (กรอบประมาณการ 3.40%-3.80% ของสินเชื่อรวม)
สำหรับปี 2563 คาดว่า NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ น่าจะปิดสิ้นปีที่ยอดรวมประมาณ 5.23 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.16% ของสินเชื่อรวม หรือขยับขึ้น 12.5% จากยอดคงค้าง NPLs ที่ประมาณ 4.65 แสนล้านบาทในปี 2562
"สถานการณ์สินเชื่อด้อยคุณภาพ เสมือนเป็นภาพสะท้อนสัญญาณอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนทั่วไป" บทวิเคราะห์ระบุ
อย่างไรก็ดี ด้วยเกณฑ์การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่อนคลายลง ตลอดจนการดำเนินนโยบายตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ในระดับสูงตลอดทั้งปี เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ก็ทำให้อัตราส่วนเงินสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL Coverage Ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงประมาณ 147%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จุดจับตาสำคัญของสัญญาณหนี้ด้อยคุณภาพในปีนี้ อยู่ที่ 2 เรื่อง คือ
1. ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ของสถาบันการเงินที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่ 1/2564 หลังจากที่ลดระดับลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เพราะลูกหนี้และผู้ประกอบการกลับมาจ่ายคืนหนี้หลังจากหมดมาตรการฯ ซึ่งทำให้สัดส่วนความช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยลดลงมาอยู่ที่ 22.7% ของสินเชื่อรวมระบบธนาคารพาณิชย์ จากระดับ 31.0% ในไตรมาสที่ 2/2563
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ลูกหนี้จะทยอยกลับมารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน เนื่องจากคาดว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กระจายวงกว้างและเศรษฐกิจที่ชะลอเวลาการฟื้นตัวออกไป อาจทำให้กระแสรายได้ของภาคธุรกิจยังคงไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่การควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่กินเวลานาน
2. ปัญหา NPLs ในปีนี้มีโอกาสกระจายตัวออกไปในหลายกลุ่มธุรกิจมากขึ้น หลังจากในปีที่แล้ว แรงกดดันหลักๆ จะอยู่กับธุรกิจขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งทางอากาศ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ทั้งนี้ แม้จะไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 แต่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักลงในหลายๆ ส่วนและสัญญาณอ่อนแอต่อเนื่องของกำลังซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ ย่อมส่งผลทำให้การฟื้นตัวของระดับรายได้ของครัวเรือน และหลายๆ ธุรกิจต้องเลื่อนเวลาออกไป ซึ่งสำหรับธุรกิจที่มีข้อจำกัดหรือมีความยืดหยุ่นน้อยในการปรับลดต้นทุน อาจเผชิญกับปัญหาด้านสภาพคล่องมากขึ้น
ดังนั้น นอกจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและรีสอร์ท และสินเชื่อรายย่อยแล้ว กลุ่มที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเติมในปีนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ขายส่ง/ขายปลีก SMEs ภาคการผลิตทั้งที่รับช่วงผลิตต่อ/พึ่งพาตลาดส่งออก/อิงกับกำลังซื้อในประเทศ รวมไปถึงธุรกิจให้เช่าอาคารอพาร์ทเม้นท์ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์และที่อยู่อาศัยอื่นๆ เพื่อเช่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การดูแลคุณภาพหนี้ในพอร์ต จะยังคงเป็นโจทย์สำคัญต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 และอาจข้ามไปในปี 2565 เพราะจะมีหนี้บางส่วนที่ต้องกลับมาจ่ายคืนตามเงื่อนไขปกติ (หลังจากพ้นช่วงผ่อนปรนของมาตรการฯ) ในขณะที่ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่มยังไม่ดีขึ้นหรือฟื้นตัวกลับมาได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ คงต้องรอจังหวะให้เศรษฐกิจปรับตัวกลับสู่ระดับปกติก่อนที่สัญญาณจากความเสี่ยงหนี้ตกชั้น หรือสัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพจะลดระดับลง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ธปท. อาจต้องกลับมาประเมินความจำเป็นของการขยายเวลาผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ให้กับสถาบันการเงิน รวมถึงการเว้นการกันเงินสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2564 หากสถาบันการเงินยังต้องใช้เวลาในการจัดการปัญหาหนี้เสีย และปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ทยอยเตรียมความพร้อมเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระดับเงินกองทุนและเงินสำรองฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในปีนี้ โดยล่าสุด อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ระดับ 20.15% (ณ พ.ย.63) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำและประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่สภาพคล่องในระบบก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินของประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าสถาบันการเงินอาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ NPLs ที่ยังขยับขึ้นก็ตาม