พาณิชย์เผยภาวะการค้าชายแดนไทย-พม่ายังเป็นปกติแม้เกิดความไม่สงบในพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 28, 2007 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายกฤษฏา เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า ติดตามสถานการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเบื้องต้นได้เตรียมพร้อมด้านอาหารและรถรับส่ง หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินและต้องอพยพคนไทยไปในที่ปลอดภัย 
ล่าสุดเมื่อวานนี้(27ก.ย.) ได้เชิญภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจในพม่ามาร่วมประชุม เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์หากต้องมีการอพยพ โดยกำหนดสถานที่ไว้ 4 จุดเพื่อใช้เป็นจุดนัดพบกลุ่มคนไทยเพื่อประสานงานและให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ สถานทูตไทย, สำนักงานของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP), บ้านพักทูตทหาร และบ้านพักทูตพาณิชย์ โดยสถานที่ทั้ง 4 แห่งมีความปลอดภัยสามารถรองรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในพม่าได้ 400 คน โดยจำนวนนี้อาศัยอยู่ในกรุงย่างกุ้ง 200 คน
"ขณะนี้สถานการณ์การค้ายังดำเนินไปตามปกติ โดยเฉพาะการค้าบริเวณชายแดน ส่วนในกรุงย่างกุ้งและเมืองมัณฑเลย์ ร้านค้ายังคงปิดทำการ ซึ่งหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทูตพาณิชย์จะรายงานมายังกระทรวงทันที" นายกฤษฏา กล่าว
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มีบริษัทของคนไทยเข้าไปทำธุรกิจในพม่าทั้งสิ้น 51 บริษัท เช่น บริษัท Myanmar-Ekarat Engineering, บริษัท Myanmar Osotspa,บริษัท เนสท์เล่ ฟู๊ดส์ (ประเทศไทย), บริษัท ปตท.สผ., บริษัท Myanmar CP Livestock, ร้านอาหารสวัสดี, บมจ.การบินไทย(THAI) เป็นต้น ส่วนธุรกิจหลักที่บริษัทของไทยเข้าไปเปิดกิจการ ได้แก่ ร้านอาหารไทย, โรงแรม, บริษัททัวร์, ธุรกิจก่อสร้าง, อัญมณีและเครื่องประดับ, ธุรกิจอาหารสัตว์และจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศยังไม่ลุกลามมาถึงชายแดน การค้าชายแดนยังดำเนินตามปกติ เพราะด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ ด่านท่าขี้เหล็กตรงข้ามอำเภอแม่สาย ด่านเมียวดีตรงข้ามอำเภอแม่สอด และด่านเกาะสองตรงข้ามจังหวัดระนอง ยังคงเปิดดำเนินการให้นำเข้าและส่งออกสินค้าตามปกติ
สำหรับภาวะการค้าชายแดนไทย-พม่านั้น ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 61,922.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 14,492.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.49% และนำเข้า 47,430.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.92% โดยไทยขาดดุลการค้า 32,937.69 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันพืช ผ้าทอ ผ้าผืน น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ, โค, กระบือ, ถ่านหิน, เฟอร์นิเจอร์ไม้, อาหารทะเล เป็นต้น
นายสรศักดิ์ ทันตสุวรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) กล่าวว่า คปภ.ได้ประสานไปยังสมาคมประกันวินาศภัยเพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่าธุรกิจของคนไทยในพม่าที่มีอยู่ 51 บริษัท ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยของคนไทยหรือไม่ หากทำประกันภัยไว้และธุรกิจได้รับความเสียหายจากเหตุชุมนุมประท้วงครั้งนี้ ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัยก็สามารถร้องเรียนมาได้ ซึ่ง คปภ.ยินดีเป็นตัวกลางเข้าไปไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ