น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธ.ค. 63 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ และอุปสงค์ในประเทศสะท้อนจากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัว การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนธ.ค.63
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 16.4% และ 10.6% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น โดยในเดือนธ.ค. 63 รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ขยายตัว 12.1% ต่อปี สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัว 2.8% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หรือหดตัวในอัตราชะลอลง จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.4% ต่อปี
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.1 จากระดับ 52.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนธ.ค.63
ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัว 7.3% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 15.8% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัว 1.3% ต่อปี หรือขยายตัว 0.3% จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ -15.9% ต่อปี
ด้านเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือนที่ 4.7% ต่อปี ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้น โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัว 63.6% และ 25.7% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ โทรศัพท์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เป็นต้น และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่กลับมาขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และรถยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป และอัญมณีและเครื่องประดับยังคงลดลง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ที่ 15.7% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปญี่ปุ่นและทวีปออสเตรเลียขยายตัวต่อเนื่องที่ 14.9% และ 13.5% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปประเทศจีนและอินเดียกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 7.2% และ 14.5% ต่อปี ตามลำดับ
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวที่ -2.4% ต่อปี จากการลดลงในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องแต่งกาย และน้ำมันปิโตรเลียม เป็นสำคัญ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 85.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอลง อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนธ.ค.63 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ เดินทางเข้าประเทศ จำนวน 6,556 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี และอังกฤษ นอกจากนี้บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ลดลง -31.9% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ลดลง -23.4% ต่อปี สำหรับภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.9% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.3% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 50.5% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 258.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ