นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต คาดว่า จะสามารถหาข้อสรุปเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ทั้งหมด ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังพิจารณา ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเบื้องต้นคาดว่าโครงสร้างภาษีใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.64 เพื่อให้สอดคล้องมติ ครม. ก่อนหน้านี้ที่สั่งให้มีการขยายระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่เป็น 40% ออกไปอีก 1 ปี หรือจะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 64 (ก.ย.64)
สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่นี้ จะต้องพิจารณาให้ตอบโจทย์ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การดูแลเกษตรกร 2. สุขภาพของประชาชน 3. ปราบปรามบุหรี่เถื่อน และ 4. การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ซึ่งจะต้องไม่มีข้อใดมากหรือน้อยไปกว่ากัน โดยกรมฯ จะพยายามพิจารณาเพื่อให้ทุกอย่างออกมาเหมาะสมและสมดุลมากที่สุด
ส่วนกรณีที่ชาวไร่ยาสูบแสดงความไม่พอใจต่อการที่กรมสรรพสามิต สนับสนุนให้ปลูกพืชทดแทนยาสูบ โดยเฉพาะข้าวโพด และมันสำปะหลังนั้น อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า หากเกษตรกรไม่พอใจกับสิ่งที่กรมฯ เสนอเป็นทางเลือกให้นั้น ก็สามารถปลูกพืชชนิดอื่นแทนได้ โดยกรมฯ ได้พิจารณาพืชทดแทนยาสูบไว้ทั้งหมด 10 ชนิด
"สาเหตุที่เลือกให้ปลุฏข้าวโพดทดแทนยาสูบ เป็นเพราะว่าการปลูกพืชดังกล่าวมีการประกันรายได้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร อย่างไรก็ดี กรมฯ จะให้สรรพสามิตพื้นที่เข้าไปใช้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรอีกครั้ง" นายลวรณ กล่าว
ส่วนแนวทางให้ใช้กัญชง กัญชา เป็นพืชทดแทนให้กับเกษตรกรนั้น จะต้องดูข้อกฎหมายว่าเอื้ออำนวยอย่างไร หากกฎหมายเปิดทางให้สามารถปลูกได้อย่างถูกต้อง กรมฯ จึงจะพิจารณาอนุญาตให้ชาวไร่ยาสูบได้รับการปลูกเป็นกลุ่มแรก ส่วนที่มีกระแสข่าวจะปลดล็อกกัญชง กัญชา โดยอนุญาตให้นำมาใช้เชิงพาณิชย์ เช่น เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มบำรุงกำลังนั้น ในต่างประเทศก็มีตัวอย่างสามารถทำได้ ซึ่งทั้งหมดคงจะต้องรอดูกฎหมายในประเทศไทยอีกครั้ง ว่าจะทำได้เต็มรูปแบบหรือไม่อย่างไร กรมฯ จึงจะสามารถนำมาคำนวณการคิดอัตราภาษีได้
นายลวรณ ยังกล่าวถึงภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ในปีงบประมาณ 2564 โดยยอมรับว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย แต่จะพยายามจัดเก็บภาษีให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด โดยล่าสุด การจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ลดลงเพียง 2-3% เท่านั้น เนื่องจากได้พยายามเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้สูงสุด ได้แก่ ภาษีรถยนต์ เนื่องจากช่วงสิ้นปีที่ผ่านมามีงานมอเตอร์โชว์ มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และภาษีเบียร์ เนื่องจากพฤติกรรมของประชาชนที่เรียนรู้จากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในครั้งที่ผ่านมา ทำให้มีการซื้อตุนไว้บริโภค