สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/50 เติบโตได้ถึง 4.4% สูงกว่าไตรมาส 1/50 ที่เติบโต 4.2% ทำให้ครึ่งแรกของปีนี้เติบโตได้ในระดับ 4.3% โดยสภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์เดิมว่าในปี 50 จีดีพียังเติบโตในช่วง 4.0-4.5%
สภาพัฒน์ ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2/50 ด้านการใช้จ่ายมีแรงสนับสนุนจาก 2 ด้านคือ การค้าต่างประเทศ จากที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่ยังขยายตัวได้ดี และมีแรงสนับสนุนการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นช่วงปลายไตรมาส 2
สำหรับสัญญาณการขยายตัวที่ดีในไตรมาส 2/50 มาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวได้ดีทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า, การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น, การนำเข้าสินค้าทุนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจยังคงมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 2 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.3% ซึ่งการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนยังคงลดลง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.8% และการท่องเที่ยวชะลอตัว โดยไตรมาส 2 นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเพียง 0.44% ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้น 5.8%
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ GDP น่าจะขยายตัวได้ดีไม่ต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวที่ 4.3% เนื่องจากการส่งออกยังมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจัยบวกจากการที่ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ สถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาลง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าคาด หากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ(Sub-prime mortgage)มีผลกระทบเป็นวงกว้าง และราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูงและผันผวนได้ง่ายตามความต้องการในตลาดโลกทีเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มโอเปคลดกำลังการผลิตลง
สัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกในเดือนก.ค. และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัว จากการทำการตลาดเชิงรุกของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีกันไปท่องเที่ยวในเวียดนามแทน คาดว่าทั้งปี 50 จำนวนนักกท่องเที่ยวอาจต่ำกว่าที่ทางการประมาณการไว้ที่ 14.8 ล้านคน หรือเติบโต 7.1% จากปี 49 ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับสมมติฐานคาดการณ์เศรษฐกิจปี 50 อยู่ในพื้นฐาน เศรษฐกิจโลกขยายตัว 4.5% และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 62-64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าปีก่อนเล็กน้อย
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ตัวเลข GDP ครึ่งปีแรกที่ออกมา 4.3% ถือว่าดีกว่าความคาดหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ทำได้แล้วถึง 93% การส่งออกในช่วงครึ่งปีขยายตัวได้มาก ซึ่งหากในช่วงครึ่งปีหลังสามารถขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กท์ให้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วงถ้าสามารถเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ตลอดจนการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในปี 51 การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติม รวมถึงกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนด้านปิโตรเคมีที่ยังค้างอยู่อีก 7 หมื่นล้านบาท ก็เชื่อว่า GDP ครึ่งปีหลังมีโอกาสจะโตได้ถึง 4.5%
"ตัวเลขที่ออกมาครึ่งปีแรกเป็นที่น่าพอใจ เราคิดว่า 4.3% เกินกว่าที่เราคาด...หากครึ่งปีหลังสามารถขับเคลื่อนการลงทุนตามกำหนด เร่งรัดงบประมาณปี 51 ขยับการท่องเที่ยวขึ้นอีกนิด และมีการเลือกตั้งชัดเจน จีดีพี 4.5% ก็ไม่ยากเกินไปนัก" นายอำพน กล่าว
สภาพัฒน์ เสนอแนะว่า การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ควรให้ความสำคัญกับมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการลงทุน โดยเฉพาะเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น การก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเร่งรัดโครงการรถไฟและรถไฟฟ้า ให้สามารถเปิดประมูลได้ภายในสิ้นปี 50 อย่างน้อย 2 เส้นทาง
เร่งรัดกระบวนการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อให้โครงการลงทุนสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ ที่สำคัญได้แก่ โครงการที่รอการพิจาณาอนุมัติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมทั้งเร่งกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณ
ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแผนงานเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การตลาด บุคลากรด้านการท่องเที่ยวและงานรักษาความปลอดภัยและให้บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างกระแสกิจกรรมหลัก ประเภทกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรมเที่ยวในประเทศ พร้อมทั้งการติดตามปัญหาซับไพร์มของสหรัฐอย่างใกล้ชิด และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบรายงานสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อเตรียมออกมาตรการรองรับและบรรเทาผลกระทบ
นายอำพน กล่าวว่า GDP ปี 50 ที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.0-4.5% และไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อครั้งที่แล้วในเดือน
มิ.ย.50 ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ประเทศไทยประสบมาตลอดในช่วงครึ่งปีแรก และจากที่พิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าปัจจัยที่จะทำให้ตัวเลข GDP เป็นไปตามคาดล้วนแต่มาจากปัจจัยในประเทศ นั่นคือความเชื่อมั่นที่จะก่อให้เกิดการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้นในปีนี้ พร้อมเห็นว่าปีนี้ประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
"เมื่อเราเห็นตัวเลข 6 เดือน เราค่อนข้างเชื่อมั่นว่าปัจจัยทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ภายนอก แต่อยู่ที่พวกเรานั่นคือความเชื่อมั่น การลงทุนว่าจะขยายหรือไม่ ยืนยันว่า GDP ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 4% จะอยู่ที่ 4.0-4.5% สถานการณ์ครึ่งปีหลังก็ดีขึ้น มีแค่ภาวะการเมืองที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ดูภาพรวมแล้วความวุ่นวายในครึ่งปีหลังคิดว่าน่าจะสงบลง...ตัวเลขต่างๆ ที่ดูจากภาพ macro เราน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว" นายอำพน กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--