นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงหดตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้า และอาจมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี จากมาตรการควบคุมที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้คนระมัดระวังการใช้จ่าย รายได้ครัวเรือนลดลง คนว่างงานมากขึ้น
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังในรอบนี้มองว่าใช้เงินไม่มากเท่ากับรอบก่อน แม้ว่ากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเราชนะ หรือการโอนเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบเป็นเงินสามพันห้าร้อยบาทเป็นเวลาสองเดือน รวมทั้งมีมาตรการคนละครึ่ง หรือการลดค่าครองชีพอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นเพียงแค่ช่วยประคองให้คนมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการประทังชีวิตให้ผ่านช่วงไตรมาสแรกไปให้ได้ ซึ่งอาจไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะออกมา โดยเฉพาะหากครัวเรือนและธุรกิจมีภาระหนี้สินที่รุมเร้า ที่ผ่านมาได้มีมาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้ ลดภาระการใช้หนี้ เช่น ยืดเวลาชำระ ลดเงินต้นที่ต้องส่งคืน
โดยสิ่งที่ต้องมองต่อไป คือ การเติมสภาพคล่องให้คนมีรายได้น้อย มาตรการอัดฉีดซอฟท์โลนหรือการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ทำได้น้อยมาก ขัดแย้งกับสภาพคล่องในระบบมีสูงมากจากเงินออมที่ล้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่และครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง-สูงยังลังเลในการใช้จ่ายและการลงทุน แล้วอาจจะคาดหวังบางสิ่งจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่จะถึงนี้
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังอยู่ในระดับต่ำมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนลงทุนและมีการบริโภคได้บ้าง แต่ดอกเบี้ยต่ำที่ลากยาวมีผลให้คนกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด คนจะหันไปลดการใช้จ่าย หรือระมัดระวังการลงทุน หันกลับไปออมมากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรับมือกับผลลบทางเศรษฐกิจจากดอกเบี้ยต่ำได้อย่างไรบ้าง
"ถ้าให้ผมอ่านใจผู้ว่าฯ ผมคิดว่าท่านคงอยากแก้ปัญหาเฉพาะจุดมากกว่าหว่านแห หรือคลายเกณฑ์การปล่อยซอฟท์โลน การให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และอาจสื่อสารเพิ่มเติมว่าดอกเบี้ยจะยังต่ำลากยาว แต่ผมก็เชื่อว่าต่อให้ทำแบบนี้ ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ รวมทั้งหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่ยังคงไม่สามารถทำให้เอสเอ็มอีได้เงินกู้ไปประคองธุรกิจได้เต็มที่"นายอมรเทพ กล่าว
ทั้งนี้ มองว่า ธปท.จะนำเครื่องมือด้านดอกเบี้ยที่ยังจำเป็นต้องนำมาใช้ แต่ในรอบการประชุมกนง.วันที่ 3 ก.พ.นี้ อาจเลือกลดลดดอกเบี้ยที่นำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ลงทั้งหมด ซึ่งช่วยลดภาระรายจ่ายลูกหนี้ พร้อมกับเพิ่มแรงจูงใจให้คนลงทุนหรือใช้จ่ายมากขึ้น แต่ส่วนสำคัญในการประชุมรอบนี้น่าจะอยู่ที่การสื่อสารของทางกนง.จะฉายภาพสภาพคล่องที่ล้นในระบบตลาดการเงินแต่สภาพคล่องนี้ไม่ไหลไปสู่คนที่ต้องการสินเชื่อ เช่น กลุ่มรายได้น้อยและเอสเอ็มอีได้อย่างไร
ส่วนการพิจารณาเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายมองว่ายังคงรอถึงการประชุมในวันที่ 24 มี.ค. 64 เนื่องจากมองว่าธปท.จะพิจารณาตัวเลขในอนาคตหรือการคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ที่ทางธปท.จะรายงานในช่วงการประชุมรอบเดือนมี.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งปัจจุบันทางธปท.คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.2% แต่ธนาคารเชื่อว่าทางธปท.น่าจะปรับลดการคาดการณ์ลง จากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นจนทาง กนง.น่าจะพิจารณาลดดอกเบี้ยลง 0.25% พร้อมกับการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม หรือทำ QE คล้ายการซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อเพิ่มวงเงินในระบบเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต จูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม
อีกทั้งผลทางอ้อมจากปริมาณเงินที่มากขึ้นและดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงจะช่วยลดแรงจูงใจในการเข้ามาซื้อพันธบัตรจากต่างชาติ เงินบาทน่าจะไม่แข็งค่าเร็วอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกและให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
"แม้เราเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางออกที่ดีเท่ากับการแก้ปัญหาเฉพาะจุด เช่น ปล่อยซอฟท์โลนและปรับโครงสร้างหนี้ แต่การลดดอกเบี้ยนโยบาย และ FIDF พร้อมๆกับการทำ QE จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เราไม่อยากเห็นเศรษฐกิจไทยรั้งท้ายในอาเซียนในปีนี้"นายอมรเทพ กล่าว