นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมอบให้กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหลักรับความเห็นและข้อเสนอแนะไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน จะประกอบด้วย พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
ทั้งนี้ ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยข้อเสนอแนะระยะสั้น และข้อเสนอระยะยาว ดังนี้
1. ในระยะสั้น ให้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงสาธารณสุข และกรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการและแผนการจัดการในที่หรือทางสาธารณะที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ
2. ในระยะยาว จะกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดจุดผ่อนผันที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่มีความเหมาะสม ความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือพื้นที่สร้างเศรษฐกิจในการทำมาหากินของผู้ประกอบอาชีพรายย่อย คำนึงถึงมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวิถีชุมชน และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว กำหนดให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมการใช้ที่หรือทางสาธารณะให้แก่รัฐ โดยให้มีคณะกรรมการเพื่อทำผังการใช้ที่หรือทางสาธารณะและบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในระดับกรุงเทพมหานครและในระดับเขต เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบาย การใช้พื้นที่ การกำกับดูแลผู้ประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะ และพิจารณาเรื่องร้องเรียน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการนี้ จะสร้างความสมดุลระหว่างการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยให้สามารถประกอบอาชีพในที่หรือทางสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยยังคงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของวิถีชุมชน พร้อมๆ ไปกับการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการใช้ที่หรือทางสาธารณะ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย