คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 3 ก.พ. 64 มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายการเงินควรผ่อนคลายต่อเนื่อง เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเผชิญความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่า แม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
"เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำ และความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิผลสูงสุด" นายทิตนันทิ์ระบุ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรก จากมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาได้เร็วและตรงจุด และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ แต่ต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้าง
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ในระยะถัดไป ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 แรงสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอและต่อเนื่อง และตลาดแรงงานที่เปราะบางขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะสั้น นอกจากนี้ การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากขึ้นจะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพแต่มีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด จากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง และต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวของสภาพคล่องยังไม่ทั่วถึง จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง รวมทั้งพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและเพื่อรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต
ขณะที่มาตรการทางการคลัง ต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจ และยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยื
เลขานุการ กนง. ระบุว่า ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงจะติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น