(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค. ลดลงต่อเนื่อง-ต่ำสุดรอบ 9 เดือน โควิดฉุดกำลังซื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2021 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค. ลดลงต่อเนื่อง-ต่ำสุดรอบ 9 เดือน โควิดฉุดกำลังซื้อ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.64 อยู่ที่ 47.8 จาก 50.1 ในเดือน ธ.ค.63 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ในประเทศ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.8

โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่เป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4.5%, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น, ผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สศค. ให้มุมมองเศรษฐกิจไทยปี 63 ดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงมาอยู่ที่ -6.5% จากเดิมคาด -7.7%, ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น, การส่งออกไทยในเดือนธ.ค.63 เพิ่มขึ้น 3.62% และนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะส่งผลให้นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐผ่อนคลายมากขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนม.ค.นี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค.63 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่จากวิกฤติโควิดในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ทั้งนี้ คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากตลอดจนไตรมาส 1 ของปีนี้ ไปจนถึงต้นไตรมาส 2 จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมโควิด-19 ในประเทศว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน รวมติดตามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมานี้จะช่วยเยียวยาผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด ทั้งโครงการ "เราชนะ", "คนละครึ่ง" และ"เรารักกัน" นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในกลางเดือนก.พ.นี้ ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ล้วนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก

"เราคาดหวังว่าจะเห็นการฟื้นตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.พ. หรือมี.ค. แต่ทั้งนี้ต้องติดตามประสิทธิภาพจากมาตรการต่างๆ ในการเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐ เสถียรภาพทางการเมืองหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งสถานการณ์โควิดในประเทศจะคลี่คลายไปมากน้อยเพียงใด" นายธนวรรธน์ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ม.หอการค้าไทย ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยสำหรับปีนี้ไว้ที่ 2.8% โดยขอรอดูผลจากมาตรการและโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่นำมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งได้มีการประเมินเบื้องต้นว่า เม็ดเงินจากโครงการ"เราชนะ"ที่ 2.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.2% โครงการ"คนละครึ่ง" 53,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.3% และโครงการ"เรารักกัน" 40,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งหากรวมมาตรการทั้งหมดแล้ว จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอีก 1.7%

ขณะเดียวกัน ยังมีความหวังในเรื่องการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ได้อีกราว 4-6 ล้านคน

"เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสโตได้ 2.8% แต่หากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ ก็อาจจะช่วยดัน GDP โตได้ถึง 3.4% แต่ต้องขึ้นกับปัจจัยการเมือง ค่าเงินบาท และการกระจายวัคซีนด้วย ดังนั้นตอนนี้เราจึงยังไม่ปรับ GDP ขอรอดูสถานการณ์อีกที อาจจะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนมี.ค." นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมระบุว่า จากมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยส่งผลให้ไม่มีการปลดคนงาน โดยสามารถรักษาการจ้างงานในระบบไว้ได้ 6-9 แสนคน ช่วยให้มีแรงงานกลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจค้าขาย ขนส่ง และกลุ่มอาหาร อัตราการว่างงานไม่ทะลุเกิน 2% และมีโอกาสกลับลงมาอยู่ที่ระดับ 1-1.5% ได้ อีกทั้งยังช่วยในการลดหนี้ครัวเรือนลงได้ โดยคาดว่าปีนี้หนี้ครัวเรือนจะไม่ขึ้นไปแตะระดับ 90% ต่อ GDP และอาจจะอยู่ที่ระดับ 84-85% ต่อ GDP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ