เมอร์ริล ลินช์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของจีนมีแนวโน้มที่จะแตะระดับสูงสุดที่ 6.5-7% ในเดือนก.ย.-ต.ค. ก่อนที่จะตกลงแตะ 5.5% ในช่วงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากอัตราเงินเฟ้อไม่ลดลง จีนอาจจะต้องทบทวนนโยบายของประเทศอีกครั้ง และหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ก็จะทำให้กลไกค่าเงินหยวนของจีนถูกเพ่งเล็ง โดยอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจจะทำให้มีการขึ้นดอกเบี้ยรวดเร็วกว่าเดิม
สำนักข่าวซินหัวไฟแนนซ์รายงานว่า เมอร์ริล ลินช์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาใดก็ตาม โดยเฉพาะกับประเทศบางประเทศที่อัตราเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องที่แก้ไขยากกว่าประเทศอื่น อาทิ จีน ซึ่งค่าเงินหยวนของจีนกำลังถูกรบเร้าด้วยปัญหาด้านสินเชื่อ ภาวะการชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยที่ร่วงลง
เมอร์ริล ลินช์ตั้งคำถามว่า การผูกติดค่าเงินในเอเชียกับเงินดอลลาร์สหรัฐจะเกิดขึ้นอีกยาวนานเท่าไร ซึ่งอัตราเงินเฟ้ออาจจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคำตอบนี้
แต่เมอร์ริล ลินช์ยังคงมุมมองที่ว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงสิ้นปีนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนขยายตัว 6.5% ในเดือนส.ค. ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ราคาอาหารเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันดัชนีราคาผู้บริโภคให้สูงขึ้น โดยราคาอาหารในจีนพุ่งขึ้น 18.2% ส่วนเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารอยู่ที่ 0.9%
ทั้งนี้ จีนได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 5 ครั้งในปีนี้ แต่คาดว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวขึ้นอีก
จากผลการสำรวจครัวเรือนในเมืองของธนาคารกลางจีนนั้น เมอร์ริล ลินช์ระบุว่า ประชาชน 61.3% คาดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้ ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงขึ้นจากระดับ 50.2% ในไตรมาส 2 และอยู่ใกล้ระดับสูงเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ว่า ความสนใจที่จะลงทุนในตลาดหุ้นยังขยายตัวต่อไป โดยหุ้นและกองทุนร่วมได้รับความสนใจมากกว่าการฝากเงินในไตรมาส 2
ขณะที่อัตราเงินฝากที่เป็นลบนั้น ภาคครัวเรือนกำลังเตรียมพร้อมที่จะซื้อหลักทรัพย์ อสังหาฯ และสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจจะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคสูงขึ้น แต่อาจจะส่งเพิ่มแรงกดดันเรื่องค่าแรงและราคา
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--