หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเสวนา เรื่อง "รวมพลังหอการค้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไทย อย่างยั่งยืน" พร้อมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านเครือข่ายหอการค้าจังหวัดฯ และกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ หรือ Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC) ทั่วประเทศ มุ่งสร้างโมเดลธุรกิจยั่งยืน ด้วยการลดใช้ทรัพยากร จัดการของเสียอย่างครบวรจร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยมีกลยุทธ์สำคัญตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1. การออกแบบสินค้าให้เกิดการนำมาใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. ลดปริมาณของเสียหรือให้เป็นศูนย์ 3. ใช้วัตถุดิบที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 4. มีระบบบริหารจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ในแผนงานปี 64 จะเน้นดำเนินการที่ภาคธุรกิจการค้าและบริการในจังหวัดชายฝั่งทะเลกว่า 23 จังหวัด เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อภาคธุรกิจว่า การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นำมาซึ่งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความเหลื่อมล้ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม ขยะล้นเมือง และสุดท้ายปัญหาเหล่านี้จะกลับมากระทบต่อธุรกิจ สำหรับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จึงมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
หอการค้าไทย จึงมุ่งจะขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านเครือข่ายสมาชิก ซึ่งดำเนินธุรกิจการค้าและบริการใน 3 ห่วงโซ่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การค้าและการลงทุน การเกษตรและอาหาร และการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งในปัจจุบันหอการค้าไทย มีเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศกว่า 100,000 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ซึ่งพร้อมจะดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม รวมทั้งจะนำโครงการต้นแบบขององค์กรต่าง ๆ มาปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ต่อไป
"รัฐบาลได้ประกาศนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy โดยผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการบริหาร BCG และดูแลด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่านอกจาก Circular Economy จะช่วยลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ด้วย จึงยินดีอย่างยิ่งที่จะตอบรับภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ในภาคเอกชนด้วยเช่นกัน" นายกลินท์ กล่าว
มร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หอการค้าไทย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจรูปแบบเก่า หรือ Linear Economy เป็นการนำทรัพยากรมาผลิต เกิดของเสียแล้วทิ้ง ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา จึงเกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพ โดยมีกลยุทธ์สำคัญ คือ การออกแบบสินค้าให้เกิดการนำมาใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการของเสียอย่างเป็นระบบครบวงจร ทำให้การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลกในขณะนี้
ในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หอการค้าไทย ได้จัด Circular Economy Workshop ขึ้นเพื่อหาแนวทางการดำเนินงาน โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมธนาคาร ร่วมทั้งเครือข่ายของหอการค้าไทยเข้าร่วมนำเสนอความเห็น ซึ่งจากการเวิร์กชอปพบว่า การขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนควรเน้นที่ปลายน้ำของ Value Chain หรือภาคธุรกิจการค้าและบริการ ให้มีการบริหารจัดการของเสีย (Waste Management) ที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นที่ขยะเศษอาหารและพลาสติก ซึ่งเป็นประเภทขยะที่มีปริมาณมาก โดยหอการค้าไทย ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้น ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในกลุ่มสมาชิกฯ อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า จากปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศไทย 27.8 ล้านตันต่อปี มีสัดส่วนที่นำไปรีไซเคิลเพียง 31% ดังนั้นขยะที่อยู่นอกระบบ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ
อย่างไรก็ดี จากช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนมีการทำงานที่บ้านมากขึ้น งดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เปลี่ยนรูปแบบเป็นการสั่งอาหาร delivery มารับประทานที่บ้าน ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารเพิ่มมากขึ้นจากก่อนที่เกิดสถานการณ์โควิดถึง 15% โดยพบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ถึง 6,300 ตัน/วัน ในขณะที่ขยะประเภทหน้ากากอนามัย มีมากถึง 2 ล้านชิ้น/วัน
นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า กว่า 80% ของขยะทะเลเกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก โดยที่มาของปัญหาคือพฤติกรรมของมนุษย์ การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้วัสดุได้หมุนเวียนกลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจ และไม่หลุดรอดไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทางหอการค้าไทย และคณะทำงานจึงร่วมมือกันขับเคลื่อนเรื่องการจัดการขยะให้เป็นวาระเริ่มต้นที่สำคัญ
"แผนงานในปี 2564 นี้ จะเน้นส่งเสริมภาคธุรกิจการค้าและบริการใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งคาดหวังให้แต่ละจังหวัดมีโครงการต้นแบบอย่างน้อย 1 โครงการ และสามารถนำไปขยายผลภายในจังหวัดของตนต่อไป" นายศักดิ์ชัยระบุ
น.ส.สลิลลา สีหพันธุ์ กรรมการ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (คณะทำงานจัดการขยะอาหาร) กล่าวว่า ประเทศไทยมีธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและร้านอาหารจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับขยะเศษอาหารที่ยังไม่มีการจัดการที่ดีเพียงพอ เนื่องจากขยะอาหารก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้นจึงได้มีการออกไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร เพื่อให้เห็นว่าจะมีวิธีบริหารจัดการกับขยะอาหารอย่างไร ซึ่งหากสามารถลดปริมาณอาหารเหลือจากต้นทางก่อนที่จะกลายเป็นขยะอาหารได้ ก็จะมีส่วนช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และลดการก่อภาวะเรือนกระจกจากขยะที่จะทำให้เกิดโลกร้อนได้
"คณะกรรมการฯ จะให้ความสำคัญเรื่องการให้ความรู้ ความเข้าใจ และแบ่งปันวิธีการดำเนินงาน โดยเน้นผลดีที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ทั้งเรื่องการลดต้นทุน และการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่" นางสลิลลา กล่าว
นายกีรติ อัสสกุล กรรมการ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ระบุว่า หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหอการค้าไทย คือ การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่สนใจและมี passion เดียวกัน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Social Lab หรือห้องปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งการทำ Social Lab เป็นกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ และเข้าใจความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อเกิดการลงมือเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
โดยปีที่ผ่าน มีผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่กว่า 80 คน เข้าร่วมโครงการและพร้อมจะนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ในธุรกิจและชีวิตประจำวัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และในปีนี้ จะเดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายต่อไป