นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) หรือ TCC-CI เดือน ม.ค.64 ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 25-29 ม.ค.64 พบว่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 29.8 ลดลงจาก 31.8 ในเดือน ธ.ค.63
ปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือน ม.ค.64 ได้แก่ การล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงสูง ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก, ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่ระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว มีผู้ติดเชื้อในประเทศจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% จากผลของการระบาดโควิดรอบใหม่, ระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก
แต่ยังมีปัจจัยบวก ได้แก่ มาตรการของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน และเราชนะ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้เพิ่มขึ้น, การส่งออกไทยในเดือนธ.ค.63 เพิ่มขึ้น 4.71% ที่มูลค่า 20,082 ล้านดอลลาร์ และต่างประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียด ดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 30.6 ลดลงจากระดับ 32.5 ในเดือนธ.ค.63 โดยมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น, การสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาด, ค่า PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ส่วนปัจจัยบวก มีเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ทยอยอนุมัติและเยียวยาประชาชน โดยมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น
- ภาคกลาง
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 30.4 ลดลงจากระดับ 32.3 ในเดือนธ.ค.63 โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้ธุรกิจที่กำลังจะฟื้นต้องกลับมาหยุดชะงักอีกครั้งจากการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนและลดการจ้างงาน, การจับจ่ายของประชาชนลดลง จากผลกระทบการล็อกดาวน์ ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ แรงกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนตามโครงการภาครัฐที่ช่วยให้กำลังซื้อดีขึ้น, ความคืบหน้าในต่างประเทศที่ทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชน
- ภาคตะวันออก
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 33.9 ลดลงจากระดับ 36.0 ในเดือนธ.ค.63 โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง, ประชาชนทยอยยกเลิกจองโรงแรม-ห้องพัก ในช่วงเทศกาลปีใหม่, มาตรการระงับการเดินทางเข้า-ออกที่ไม่จำเป็นในพื้นที่ของประชาชน ส่วนปัจจัยบวกมีเพียง มาตรการภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถดำเนินกิจการต่อได้
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 29.1 ลดลงจากระดับ 31.0 ในเดือนธ.ค.63 โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังลปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่อาจจะแพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น การท่องเที่ยวของประชาชนลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ปัญหาการว่างงาน ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาคเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว การลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดน้อย
- ภาคเหนือ
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 29.3 ลดลงจากระดับ 31.4 ในเดือนธ.ค.63 โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น, เกษตรกรกังวลปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรที่อาจไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก, นักท่องเที่ยวชะลอตัวในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของภาคเหนือ ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ ทำให้การจับจ่ายของประชาชนปรับตัวดีขึ้น, ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว
- ภาคใต้
ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 26.9 ลดลงจากระดับ 28.7 ในเดือนธ.ค.63 โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลของผู้ประกอบการจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19, ภาคการท่องเที่ยวยังซบเซาต่อเนื่อง, สถานการณ์น้ำท่วมในบางจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น, แรงกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนตามโครงการภาครัฐ ช่วยให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระบต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ
2. เร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ช่วยเหลือประชาชน
3. บรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจ และเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่อง โดยเน้นและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบปลอดเชื้อ
4. มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
5. ออกมาตรการและหาแนวทางเพื่อจูงใจการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ