น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายละเอียดการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) สำหรับประชาชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟน ทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนเอง หรือไม่สามารถเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินสิทธิที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ได้ เป็นต้นนั้น โดยประชาชนกลุ่มดังกล่าว สามารถลงทะเบียนได้ระหว่างวันที่ 15-25 ก.พ.64 ณ สาขาธนาคารกรุงไทย (KTB) หรือจุดบริการเคลื่อนที่รับลงทะเบียน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการร่วมกับธนาคารกรุงไทยในการให้มีจุดบริการเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่รับลงทะเบียนให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับประชาชนในกลุ่มดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ในเบื้องต้นประชาชนกลุ่มดังกล่าว ต้องนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ไปใช้ประกอบการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์โครงการฯ โดยต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยการเสียบบัตรประจำตัวประชาชน (Dip Chip) ผ่านเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture หรือ EDC) พร้อมกำหนดรหัส (PIN Code) ได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการที่ธนาคารกรุงไทยกำหนด
ทั้งนี้ ประชาชนที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้รับอนุมัติวงเงินสิทธิ จะได้รับวงเงินสิทธิสนับสนุนเป็นรายสัปดาห์ จำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยสามารถใช้จ่ายวงเงินผ่านบัตรประจำตัวประชาชน สำหรับการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการจากร้านค้าในโครงการธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ร้านค้าในโครงการคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ และผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยวงเงินที่ได้รับจากโครงการฯ สามารถสะสมได้ แต่จะสามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค.64
สำหรับกลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และกลุ่มประชาชนทั่วไป ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com แล้วพบว่าไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิผ่านทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติเรื่องเงินได้พึงประเมิน และมีความประสงค์ให้ตรวจสอบข้อมูลเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2563 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 8 มี.ค.64 สำหรับผู้ที่ได้ยื่นขอทบทวนสิทธิตั้งแต่วันที่ 8-9 ก.พ.64 จะต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 17 ก.พ.64
น.ส.กุลยา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังพบว่ามีประชาชนหรือร้านค้าที่ใช้จ่ายวงเงินสิทธิผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขจริง จะระงับการใช้แอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" ของร้านค้าตลอดจนระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที รวมถึงระงับการใช้แอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ด้วย และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนรักษาสิทธิของตนเอง และขอให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการฯ สำหรับประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการฯ สามารถแจ้งเบาะแส รวมถึงส่งหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการฯ ถึง "คณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการฯ" ทางไปรษณีย์มาได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail Account) wewin@fpo.go.th
โฆษกกระทรวงการคลัง คาดว่าการลงทะเบียนกลุ่มประชาชนที่ต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษนี้ จะยังอยู่ในกรอบให้ความช่วยเหลือของโครงการเราชนะ จำนวน 31.1 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินการใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ถือบัตรคนจน 13.8 ล้านคน 2.กลุ่มใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง 8.4 ล้านคน และ 3.กลุ่มผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราชนะ 6.4 ล้านคน มียอดผู้ได้รับสิทธิแล้ว 28.5 ล้านคน เมื่อรวมกับกลุ่มที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ ก็คาดว่ากรอบจำนวนผู้ได้รับสิทธิที่เตรียมไว้จะเพียงพอทั้งหมด
"มาตรการทางการคลัง ถือว่าดูแลทุกกลุ่มแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีมาตราคนละครึ่ง เฟส 1-2 มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้ ผู้เสียภาษี และมนุษย์เงินเดือน และจะมีมาตรการ ม.33 เรารักกันออกมาอีก ส่วนเกณฑ์ตัดสิทธิ์ ผู้มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ก็ใช้ข้อมูลล่าสุดที่ 31 ธ.ค.63 หากใช้ฐานเงินฝากเพิ่มขึ้น เช่น 1 ล้านบาท ก็จะถูกมองว่ารัฐบาลช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งปัจจุบัน ผู้มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาททุกบัญชีรวมกันในประเทศ มีเพียง 1.8-2 ล้านรายเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 66 ล้านคน" น.ส.กุลยากล่าว