เจมส์ โวล์ฟเฟนซั่น อดีตประธานธนาคารโลก กล่าวว่า ประเทศพัฒนาแล้วไม่มีการเตรียมตัวที่ดีพอที่จะรับมือการการย้ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจไปยังประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอินเดียและจีน
โวล์ฟเฟนซั่น กล่าวว่า ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยังคงปฏิบัติต่อประเทศกำลังพัฒนาด้วยทัศนคติที่ว่าประเทศเหล่านั้นเป็นอาณานิคมของตน และไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงวิถีทางของอำนาจที่กำลังเคลื่อนย้ายไปสู่ประเทศในแถบตะวันออก ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว
"ผู้นำในโลกพัฒนาแล้วและประชาชนผู้ซึ่งควรจะตระหนักมากกว่านี้ ยังคงไม่ปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจโลกนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงธรรมดาๆ หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างข้ามทวีปเลยทีเดียว" เขากล่าวปาฐกถาในการประชุมทางการเงินที่ฮ่องกง
"หากคุณพิจารณาดูประเทศพัฒนาแล้ว และวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คุณจะพบว่า มาตรการต่างๆนั้นไม่จริงจังเอาเสียเลย" เขากล่าว
โวล์ฟเฟนซั่นระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนามีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี รวมกันเพียง 10% เมื่อปี 2493 แต่ในอีก 100 ปีต่อมาชาติเหล่านี้จะมีจีดีพีรวมกันถึง 65%
การเติบโตอย่างอู้ฟู่ของจีนจะส่งผลให้มังกรในเอเชียก้าวแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นชาติร่ำรวยที่สุดในโลกภายในปี 2583 และอินเดียรั้งอันดับ 3 ภายในปี 2593 โดยอดีตประธานธนาคารโลกได้ยกตัวอย่างการที่ผู้นำทางการเมืองและผู้นำธุรกิจในแอฟริกาดำเนินงานโดยตรงกับจีนและอินเดีย ขณะที่ชาติตะวันตกเป็นเพียงทางอ้อม
นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มีการมุ่งเน้นความเข้าใจในเอเชียให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านภาษา และการมีสำนึกเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า การพัฒนาของเอเชียต้องรับประกันได้ว่ากลุ่มคนยากจนจะได้รับประโยชน์ และหลีกเลี่ยงภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองเช่นที่กัดกร่อนประเทศในละติน อเมริกามาแล้ว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ฤดี ภวสิริพร/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--