นางปนุท ณ เชียงใหม่ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า "โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM" ขานรับนโยบายล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้าช่วยประชาชนที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน (Non-Bank) จำนวน 35 แห่ง อย่างต่อเนื่อง โดยขยายเวลาการเป็นหนี้เสีย จากเดิมวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคาดว่าจะช่วยผู้เป็นหนี้กลุ่มดังกล่าวที่ค้างชำระและเป็นหนี้ NPL ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นและทันท่วงที โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่พลาดโอกาสหรือยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการเนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ "โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM" กำหนด รวมทั้งรองรับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับลูกค้าที่สมัครเข้าโครงการฯ เพราะนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยต่ำเพียง 4-7% ต่อปี และระยะเวลาการผ่อนนานสูงสุดถึง 10 ปีแล้ว ยังจะได้รับมาตรการพิเศษ "ยาแรง 2 สูตร" ที่ขยายระยะเวลาออกไปถึงเดือน มิถุนายน 2564 ได้แก่ ยาสูตร 1 การเลื่อนกำหนดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ที่ชำระไม่ไหว โดยจะไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้และไม่เสียประวัติ และ ยาสูตร 2 ลดดอกเบี้ยลง 1-2% สำหรับผู้ที่สามารถผ่อนชำระต่อเนื่องอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าร่วม "โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM" ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นตามที่กำหนด คือ เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ มีอายุไม่เกิน 65 ปี มียอดหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท และ เป็นหนี้เสียก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาผลการสมัคร ตามแนวคิด "เอกสารครบ-จบไว" ควรเตรียมเอกสารสำคัญประกอบการสมัคร ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน 2. สลิปเงินเดือนย้อนหลัง หรือเอกสารแสดงรายได้ย้อนหลัง 3 เดือน 3. รายการเดินบัญชี หรือ Statement ย้อนหลัง 6 เดือน 4. เอกสารรายงานเครดิตบูโร
ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางออกนอกบ้านของลูกค้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 "โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM" พร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสมัครเข้าร่วมโครงการหรือสอบถามรายละเอียดผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com แอดไลน์ @debtclinicbysam Facebook คลินิกแก้หนี้ หรือโทรสอบถามที่ Call Center 02-610-2266 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-17.00 น.
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ -14 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ธปท.มีกำหนดจัดงาน "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล" ในรูปแบบออนไลน์ (Online mediation) ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี ธปท. และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เพื่อเป็นช่องทางช่วยประชาชนที่มีหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคลแก้ไขปัญหาหนี้สินแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดีที่ยังผ่อนชำระปกติแต่เริ่มขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือเป็นหนี้เสียแล้ว แต่ยังไม่มีการฟ้องหรืออยู่ระหว่างฟ้องดำเนินคดี หรือที่มีคำพิพากษาแล้ว โดยลูกค้าโครงการคลินิกแก้หนี้สามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมดังกล่าวสมัครเข้า "โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM" และเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยปัญหาที่มีกับเจ้าหนี้ได้อีกทางหนึ่ง
นางปนุท กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลให้จำนวนลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้เสียสูงขึ้น "โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM" ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของภาครัฐได้มีส่วนช่วยหาทางออกร่วมกันของเจ้าหนี้-ลูกหนี้ เพื่อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ได้รวดเร็ว และทำให้ลูกหนี้สามารถดำเนินชีวิตหรือธุรกิจต่อไปได้ อันเป็นการช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 62,000 ราย มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วรวมเป็นภาระหนี้เงินต้นสะสมกว่า 3,200 ล้านบาท โดยมีภาระหนี้เฉลี่ย 300,000 บาทต่อคน