พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกของเล่น-อุปกรณ์กีฬาเร่งทำตลาดในสหรัฐหลังเติบโตช่วงโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2021 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) นิวยอร์ก ได้รายงานถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าของเล่นและอุปกรณ์กีฬาในตลาดสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การดำเนินชีวิตถูกปิดกั้นและถูกจำกัด จึงเกิดความต้องการในการสร้างความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งการเล่นของเล่น และการเล่นกีฬา เลยส่งผลให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ในปี 63 ยอดจำหน่ายของเล่นในสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 25,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% โดยสินค้าที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เช่น รองเท้าสเก็ต สเก็ตบอร์ด และสกูตเตอร์ มีการเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมา คือ ตุ๊กตาแฟชั่นและอุปกรณ์ตกแต่ง และของเล่นชุดสำหรับก่อสร้างและเสริมจินตนาการ เช่น เลโก้ เป็นต้น

ขณะที่ช่วง 11 เดือนของปี 63 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าของเล่นกลุ่มสันทนาการกลางแจ้งจากไทย เป็นลำดับที่ 6 มูลค่า 98 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.99% โดยคู่แข่งที่สำคัญของไทย คือ จีน เวียดนามและไต้หวัน และพบว่าสินค้าไทยมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะสินค้าหลายรายการ ไทยไม่ถูกเก็บภาษี แต่คู่แข่งถูกเก็บ ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีกว่า ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออก จะต้องใช้เป็นข้อได้เปรียบและวางแผนในการส่งออกต่อไป

สำหรับตัวอย่างสินค้าที่ไทยมีโอกาส เช่น อุปกรณ์กอล์ฟ ไม้กอล์ฟ ลูกกอล์ฟ อุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย ลูกบอลอื่นๆ อุปกรณ์ทางน้ำ ลูกเทนนิส ลูกบอลเป่าลม อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้งและเกมส์ อุปกรณ์สเก็ตน้ำแข็งและโรล์เลอร์สเก็ตต่างๆ เรือใบและอุปกรณ์ ซึ่งสินค้าไทยไม่เสียภาษีนำเข้า แต่สินค้าจากคู่แข่งต้องเสียภาษีนำเข้าตั้งแต่ 4.4-15% รวมถึงปิงปองและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง สกีและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไทยไม่เสียภาษี แต่คู่แข่งยังเสีย และสินค้ากลุ่มข้างเคียง เช่น เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์ต่างๆ อาหารสุขภาพ ที่มีโอกาสเติบโตด้วย

ขณะที่ นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการ สคต.นิวยอร์ก กล่าวว่า ตลาดสินค้าดังกล่าวเป็นตลาดที่สนใจ ซึ่งผู้บริโภคมีกำลังและมีความพึงพอใจในการซื้อค่อนข้างสูง จึงทำให้ตลาดมีการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิต OEM ให้กับแบรนด์ดังหลายรายในสหรัฐฯ และค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องการเป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ และอานิสงส์จากการไม่เสียภาษีนำเข้า จึงทำให้ผู้นำเข้ามีความสนใจในสินค้าไทย แต่ข้อจำกัดของไทยบางประการที่อาจจะลดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ คือ การพัฒนาสินค้าและต้นทุนแรงงานสูง

อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้นำเข้าได้เปิดโอกาสทดลองนำเข้าสินค้าในกลุ่มใหม่จากไทย ทั้งที่ไม่เคยนำเข้ามาก่อน เนื่องจากเกิดอุปทานจากตลาด ส่งผลให้ผู้นำเข้ามองหาแหล่งผลิตและสินค้าแปลกใหม่มาตอบสนองความต้องการของตลาด จึงเป็นโอกาอันดีที่ไทยได้เริ่มเข้ามาส่งออกสินค้าในกลุ่มใหม่ๆ โดยไทยควรประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ผู้นำเข้าเกี่ยวกับทักษะและความหลากหลายในการผลิตของไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้นำเข้าต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ