กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 29.75-30.05 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 29.87 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 29.86-30.05 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ภาวะตลาดโดยรวมค่อนข้างเงียบเหงาตามวันหยุดเทศกาลตรุษจีนของหลายตลาดในภูมิภาค
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ โดยตลาดเปิดรับความเสี่ยงและเข้าซื้อหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิตอล ขณะที่เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังขนาดใหญ่ รวมถึงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ส่วนเงินปอนด์แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปีหลังข้อมูลจีดีพีออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่การกระจายวัคซีนในสหราชอาณาจักรเป็นไปตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3,100 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 3,600 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะจับตาข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ บันทึกการประชุมรอบล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) รวมถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลักดันแผนกระตุ้นทางด้านการคลัง ทั้งนี้ ประธานเฟดยังคงส่งสัญญาณไม่ถอนมาตรการกระตุ้นทางการเงินในเร็วๆนี้ พร้อมระบุว่าควรมีมาตรการช่วยเหลือตลาดแรงงานหลังผ่านพ้นวิกฤติด้านสาธารณสุข และการที่จะบรรลุภาวะการจ้างงานสูงสุดและยืนระยะดังกล่าวได้จำเป็นต้องอาศัยมากกว่าแรงหนุนจากนโยบายการเงิน
อนึ่ง แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปี และ 30 ปี แตะระดับ 1.20% และ 2.00% ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/63 แต่อัตราผลตอบแทนที่หักเงินเฟ้อยังลดต่ำลงต่อเนื่อง ภาวะเช่นนี้สนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าค่าเงินดอลลาร์จะเผชิญแรงกดดันด้านขาลงในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเฟดยังคงแสดงท่าทีสายพิราบ และแผนกระตุ้นทางการคลังขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ถูกลดทอนลงน้อยกว่าคาด
สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานจีดีพีไตรมาส 4/63 หดตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เติบโต 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยตัวเลขดังกล่าวแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่ในปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัว 6.1% ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่าจีดีพีปีนี้จะฟื้นตัวในอัตรา 2.5-3.5% จากเดิมประเมินไว้ในช่วง 3.5-4.5% เมื่อมองไปข้างหน้าเราคาดว่าเศรษฐกิจอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับการส่งออกที่กระเตื้องขึ้นตามวัฎจักรการค้าโลก อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูงและบาดแผลในภาคบริการยังฝังลึก