ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังมีความเสี่ยงหลายประการ โดยประมาณการล่าสุดของ EIC คาดไว้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.2% เป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ซึ่งมีข้อจำกัดสำคัญตามการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดย EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพียง 3.7 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่กำลังซื้อในประเทศ คาดว่าจะมีการฟื้นตัวช้าเช่นกัน จากการระบาดรอบใหม่ในช่วงต้นปีที่จะไปซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจที่มีอยู่ ได้แก่ การปิดกิจการและการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อภาคประชาชน
อนึ่ง จากการรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 63 หดตัว -4.2% ขณะที่ทั้งปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัว -6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปีนับจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 41 ที่ปีนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัว -7.6%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 63 ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าคาด จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น โดยการหดตัวที่ -4.2%YOY นับเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่ EIC คาดไว้ที่ -5.4% และทั้งปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัวน้อยกว่าที่ EIC เคยคาดไว้ที่ -6.5%
"การหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 นับเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าคาด จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ได้มีมาตรการภาครัฐสนับสนุน ภาคส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงระดับสินค้าคงคลังที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับในปีนี้ EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากข้อจำกัดในการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ผลของการระบาดรอบสองที่จะกระทบกับแผลเป็นเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ ประกอบกับยังมีความเสี่ยงหลายประการ" SCB EIC ระบุ
อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ โดยล่าสุด ภาครัฐได้อนุมัติโครงการเราชนะและ ม.33 เรารักกัน เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 40 ล้านคน วงเงินรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย
ทั้งนี้ ต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจฟื้นตัวดีมากกว่าคาด ตามข้อมูลการส่งออกล่าสุดของหลายประเทศที่ทยอยออกมา ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดย EIC จะทำการประเมินอีกครั้ง และเผยแพร่ประมาณการรอบใหม่ในช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้
ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ 1) ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ 2) ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย 3) แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น 4) ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน 5) ภัยแล้งจากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และ 6) ค่าเงินบาทที่แข็งเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออก และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ