ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ม.ค. ลดลงต่อเนื่อง-ต่ำสุดรอบ 6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 18, 2021 10:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.64 อยู่ที่ระดับ 83.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.8 ในเดือนธ.ค.63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธ.ค.63 ที่ผ่านมา ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่ารอบแรก และขยายขอบเขตในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุมตามความรุนแรงของสถานการณ์ รวมทั้งมีความเข้มงวดในมาตรการรักษาระยะห่าง การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ

ขณะที่ภาครัฐและเอกชนให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (work from home) มากขึ้น ส่วนสถานศึกษายังปิดเรียนชั่วคราว โดยให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านการส่งออก ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งยังคงกดดันภาคการส่งออกไทย

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าการระบาดรอบแรกในช่วงเดือนเม.ย.63 ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75.9 เนื่องจากการระบาดในรอบนี้ภาคการผลิตไม่ได้หยุดชะงัก และยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการ แรงงาน และประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.1 จากระดับ 92.7 ในเดือนธ.ค.63 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้กับประชาชน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 64 ตลอดจนการค้าและการลงทุนของไทยยังมีความไม่แน่นอน

ประธาน ส.อ.ท. ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1.เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก

2.เร่งรัดการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ของไทย ให้ได้ตามกำหนดเวลาและมีปริมาณเพียงพอ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ

3. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ของไทย

4. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

5. ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะมาตรการเสริมสภาพคล่อง จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายและเงื่อนไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้

6. ให้ภาครัฐพิจารณานำโครงการ ช็อปดีมีคืน กลับมาใช้ในปี 64 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน โดยให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 50,000 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ