นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
"หากไม่มีการแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำทางกฎหมายให้มีความชัดเจนถึงผลทางด้านภาษีของการขายคืนหน่วยลงทุนเนื่องจากเหตุสูงอายุ และเนื่องจากการได้ถือครองหน่วยลงทุนมา 5 ปี จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการออมระยะยาว แบบผูกพัน และการจัดเก็บภาษีอากร" นายโชติชัย กล่าว
โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการขายคืนหน่วยลงทุน กรณีผู้ลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์และถือครองหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกจะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายหน่วยลงทุนดังกล่าว และไม่ต้องคืนเงินค่าลดหย่อนทางภาษีที่ได้ใช้สิทธิไปแล้ว
ส่วนหน่วยลงทุนบางส่วนที่ถือครองมาน้อยกว่า 5 ปี ผู้ลงทุนจะได้รับการยกเว้นเฉพาะกำไรที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนดังกล่าว และต้องคืนค่าลดหย่อนทางภาษีที่ได้ใช้สิทธิไปแล้ว
นายโชติชัย กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมายกับผู้ลงทุน เนื่องจากเข้าใจคลาดเคลื่อนและได้ซื้อหน่วยลงทุนไปแล้ว เห็นควรให้กฎหมายที่จะเสนอแก้ไขครั้งนี้มีผลบังคับไปข้างหน้า โดยมีผลทางภาษีสำหรับหน่วยลงทุนที่จะได้มีการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในปี 44 กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(Retirement Mutual Fund:RMF) ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งออมเงินระยะยาวแบบผูกพันไว้ใช้เมื่อสูงอายุในลักษณะเดียวกับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(Provident Fund) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ซึ่งได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในจำนวนเท่าที่จ่ายจริงและไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(ถ้ามี) หรือ กบข.(ถ้ามี) แล้วจะต้องไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี, ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายคืนหน่วยลงทุนให้กับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เนื่องจากเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย
ต่อมาในปี 47 กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการภาษีเพื่อพัฒนาตลาดทุน ซึ่งในส่วนของการสนับสนุนการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้ออกกฎกระทรวง โดยผ่อนปรนให้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีจากการขายคืนหน่วยลงทุน กรณีได้มีการถือครองหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จากแต่เดิมที่กำหนดว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะกรณีขายคืนหน่วยลงทุนเนื่องจากเหตุสูงอายุ(ผู้ลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) หรือเหตุทุพพลภาพ หรือตายเท่านั้น
"เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวทำให้ผู้เสียภาษีเข้าใจว่าการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อได้ถือครองหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกับกรณีการขายคืนหน่วยลงทุนเนื่องจากเหตุสูงอายุทุกประการ อันทำให้เกิดความเข้าใจว่าผู้ลงทุนไม่มีเหตุที่จะต้องถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปี ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีการออมระยะยาวเพื่อใช้ในวัยสูงอายุ" นายโชติชัย กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--