นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 ไว้ที่ขยายตัว 2.6% โดยยังมีหลายประเด็นที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าตามหลังประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวที่สูงกว่า ขณะที่ยังต้องติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนการกระจายวัคซีนในประชากรหมู่มากจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแนวทางการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงปลายปี 64
อย่างไรก็ตามความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิด-19 ได้จะต้องใช้ระยะเวลาไปจนถึงปี 65-66 เพราะปัญหาจากโควิด-19 ในรอบนี้กระทบภาคธุรกิจโดยตรง ต่างจากปี 40 ที่มีจุดกำเนิดจากธุรกิจการเงิน อีกทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจหลังผ่านพ้นช่วงโควิด-19 คงไม่ทั่วถึง และประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างรออยู่อีกทั้งสังคมสูงอายุ ตลาดผู้บริโภคเล็กลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ เป็นต้น
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กรอบจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีพื้นฐานไว้ที่ประเมินไว้ในปีนี้ที่ 2 ล้านคน แต่เมื่อมองไปที่ภาคท่องเที่ยวยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก ขณะที่ปัญหาโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้โรงแรม 30-40% อาจต้องออกจากตลาดไป โดยเน้นไปที่โรงแรมในกลุ่มราคาประหยัด (Budget) หรือราคาระดับกลาง (Midscale)
นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะร้านค้าเอสเอ็มอีในห้างที่มีจำนวน 30% ของเอสเอ็มอีภาคการค้าทั่วประเทศ สำหรับประเด็นเรื่อง Vaccine Passport ยังไม่อาจคาดหวังได้มากในขณะนี้ เพราะยังไม่มีหลักฐานการศึกษาว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะไม่ติดเชื้อหรือแพร่เชื้ออีกครั้ง ประโยชน์ในเรื่องนี้คงเกิดกับเฉพาะบางประเทศที่รับความเสี่ยงได้ มากกว่าจะเป็นประโยชน์ในระดับโลก
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า โจทย์เฉพาะหน้าของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ คือ การดูแลปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินที่คงไต่ระดับขึ้นจากปลายปี 63 ที่ 27.6% และ 14.7% ของสินเชื่อสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคลรายย่อยตามลำดับ แม้ว่าตัวเลข NPL จะยังไม่สะท้อนมาก เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ตาม
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางนั้นภาครัฐคงมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น Asset Warehousing เพียงแต่อาจไม่เร็ว เพราะยังต้องรอรายละเอียดในหลายประเด็น ขณะที่หากมีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ที่เริ่มเกิดขึ้นกับธุรกิจ แนะนำให้ผู้บริหารของภาคธุรกิจรีบคุยกับสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องรอให้เป็น NPL เพื่อทำให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยวางแผนได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นจริง