รฟม.-NBM เซ็นสัญญาร่วมทุนฯรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย คาดเปิดให้บริการปี 67

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2021 18:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM)

นายอนุทิน กล่าวว่า การลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ในวันนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี ภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT?01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT?02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 67 และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารตามคาดการณ์ 13,785 คน/เที่ยว/วัน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า โครงการนี้มีวงเงินลงทุน 4.2 พันล้านบาท ซึ่งเอกชนผู้รับสัมปทาน.เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ที่รวมค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืน และค่าระบบงานไฟฟ้า ขณะที่ รฟม.จะส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนผู้รับสัมปทาน ในเดือน ก.ค.-ส.ค.64 และระยะเวลาก่อสร้าง 37 เดือน

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM และ กรรมการบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า ค่าโดยสารของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และส่วนต่อขยาย 2 สถานี เริ่ม 14-42 บาท และหากเชื่อมกับระบบรถไฟฟ้าสายอื่นที่อยู่ภายใต้สัมปทานของรฟม. จะไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า ซึ่งเป็นไปตามสัญญา ส่วนจะเชื่อมกับเส้นทางอื่นที่ไม่ใช่ของรฟม.ในอนาคตจะมีการเจราจากันเพื่อยกเว้นค่าแรกเข้าจะไม่เพิ่มภาระประชาชน โดยสายสีชมพูต่อสายสีม่วง สายสีชมพูต่อสายสีเหลือง และสายสีเหลืองต่อสายสีน้ำเงิน

ส่วนเงินลงทุน 4.2 พันล้านบาท ปรับขึ้นจากเดิม 3.4 พันล้านบาท เพราะค่าที่ดินที่จะเวนคืนปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้แหล่งเงินทุนมาจากบมจ.บางกอกแลนด์ (BLAND) 1,250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจาก NBM ที่ร่วมทุนกันระหว่าง BTS ,บมจ.ซิโน-ไทย เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) โดยได้แจ้งกับเจ้าหนี้เพื่อขอกู้เพิ่มเติมแล้ว

ทั้งนี้ NBM จะพยายามเร่งงานในส่วนต่อขยายสายสีชมพูให้เร็วขึ้นเพื่อเปิดให้บริการได้เร็วและทันกับเส้นทางหลักที่จะเปิดในปี 66 จากกรอบการดำเนินงาน 37 เดือนนับจากวีนส่งมอบพื้นที่ ก.ค. นี้ จะเปิดได้ในปี 67 โดยมีรถไฟฟ้าจำนวน 88 ขบวนๆละ 4 ตู้ที่รองรับการเดินรถทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่ใช้มากกว่ารถไฟฟ้าสายสีเหลือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ