สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือนม.ค.64 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาลดลงที่ -46.9% และ -6.6% ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลง -7.8% เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.8 จากระดับ 50.1 ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ภายในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรในเดือนมกราคม 2564 ยังคงขยายตัวได้ที่ 8.0% ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาลดลง-5.4% ต่อปี ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 1.6% ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ -9.9% ต่อปี
เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.4% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ขยายตัว 345.1% และ 50.5% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัวต่อเนื่อง
2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เป็นต้น และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และถุงมือยาง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบลดลง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันที่ 12.4% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียและจีนขยายตัวต่อเนื่องที่ 30.3% และ 9.9% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาด CLMV กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือนที่ 3.8% ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 83.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับผู้ส่งออกประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น
สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนมกราคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 7,649 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก นอกจากนี้บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.9% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.3% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 52.1% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 256.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/64 ได้ว่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยขอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.พ.-มี.ค.64 อีกครั้ง แต่เชื่อว่ายังอยู่ในแนวโน้มฟื้นตัว ส่วนการนำเข้าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รอบแรก 2 แสนโดสนั้น หากมีการกระจายฉีดวัคซีนได้ตามแผน และต่างประเทศฉีดวัคซีนได้ทั่วถึง ก็จะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดย สศค.ประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไว้ที่ 5 ล้านคน