(เพิ่มเติม1) "ฉลองภพ"เตือนธปท.กำหนดนโยบายการเงินต้องสอดคล้องการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 17, 2007 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า การกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในระยะต่อไป ควรจะพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายการคลัง เพราะหากต่างคนต่างทำ ก็จะไม่เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจมหภาค 
"ประเด็นที่ผมมองว่าทั้งแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง ต้องศึกษาวิจัยและเชิงลึก เพื่อกำหนดกรอบในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบัน กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจะต้องไปหารือกันว่ากรอบที่จะดูแลเศรษฐกิจมหภาคของประเทศจะเติบโตไปในทิศทางไหน"
"ต่อไปนี้ทั้งสองฝ่ายต้องประสานงานกันมากขึ้น ในอนาคตกระทรวงการคลังก็จะมีเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยธปท.หลายเรื่องโดยเฉพาะในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน"นายฉลองภพ กล่าวในหัวข้อ"นโยบายเศรษฐกิจการคลังการเงินในยุคเปลี่ยนผ่าน"ระหว่างการสัมมนาทางวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)
รมว.คลัง ยังเห็นด้วยกับทฤษฏีที่ว่านโยบายการคลังจะไม่เกิดประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากประเทศนั้นมีการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวอย่างเสรี รวมถึงมีการไหลเข้าออกของเงินทุนอย่างเสรี
"กรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบเสรี และมีเงินทุนไหลเข้าออกได้เสรี หากใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาก จะทำให้สภาพคล่องในประเทศลดลง และผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มขึ้น ซี่งเงินจะไหลเข้าจากต่างประเทศ และทำให้บาทแข็งส่งผลให้ขีดความสามารถการส่งออกของไทยลดลง สิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและทำให้การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่เกิดผล" รมว.คลัง ระบุ
นายฉลองภพ ยังแสดงความอึดอัดใจต่อกรณีที่ในฐานะรมว.คลัง จะต้องนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่าย เนื่องจากมองว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ทำหน้าที่โดยตรงในเรื่องการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงคือสำนักงบประมาณที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นผู้ที่เหมาะสมจะนั่งตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรจะเป็นหน้าที่ของรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ
"รู้สึกอึดอัดที่ไม่สามารถดูแลนโยบายการคลังได้เบ็ดเสร็จ...กระทรวงคลังไม่เกี่ยวกับการจัดสรรงบ แต่คนจัดสรรคือสำนักงบประมาณ แต่กลับให้รมว.คลังเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบฯ ดูว่าไม่เหมาะสม ควรให้รองนายกฯ ที่ดูแลสำนักงบฯ มานั่งจะเหมาะกว่า" รมว.คลังกล่าว
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายการเงินการคลังในอนาคต เพื่อให้นโยบายดังกล่าวมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ ประกอบด้วย 3 หลักใหญ่ คือ นโยบายที่ต้องมีความยืดหยุ่น, มาตรการที่หลากหลาย และวิธีปฏิบัติที่โปร่งใส
นโนบายด้านการคลังในอนาคตนั้น แนวโน้มจะต้องเป็นเรื่องของภาษีรายจ่ายมากกว่าภาษีรายได้, รายจ่ายลงทุนของภาครัฐควรเป็นไปตามเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน, รายจ่ายเพื่อสาธารณะต้องมีความชัดเจน, รายได้ต้องเกิดความคุ้มค่าจากทรัพย์สินของรัฐ และมีมาตรการออกตราสาร รวมทั้งกฎระเบียบเพื่อช่วยพัฒนาตลาดเงินตลาดทุน
ส่วนนโยบายการเงินในอนาคตนั้น จะต้องมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน, เพิ่มทางเลือกในการบริหารผลประโยชน์จากเงินสำรอง, เพิ่มช่องทางการออม รวมถึงการพัฒนาตราสารในประเทศและในภูมิภาค และมีการตรวจสอบจัดชั้น, ต้องเชื่อมต่อตลาดเงินและตลาดทุนในต่างประเทศ และสุดท้ายต้องร่วมมือกับประเทศในเอเชียเพื่อพัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุน และระบบอัตราแลกเปลี่ยน
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) เห็นว่า นโยบายการเงินต่อจากนี้ควรจะต้องทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้น มีการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และให้สถาบันการเงินบริหารความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมเพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องล้นตลาด ซึ่งจะมีผลกระทบมายังลูกค้าของธนาคาร
"ควรต้องสร้างนวัตกรรมทางการเงินให้ธนาคารบริหารความเสี่ยงอย่างพอประมาณ เพราะจะช่วยเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้สมดุล ไม่ใช่ขาหนึ่งโต แต่อีกขาหนึ่งลีบ"นายพิสิฐ ระบุ
ส่วนนโยบายการคลังในอนาคตนั้นจะต้องมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพทางการคลังมากขึ้น ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50
และลดช่องว่างสำหรับรัฐบาลในการทำนโยบายประชานิยมเพื่อประโยชน์ในการหาเสียง ดังนั้น จึงมีการระบุไว้ว่าในการเลือกตั้งนั้น พรรคใดที่จะประกาศใช้งบประมาณในลักษณะของการทำประชานิยมจำเป็นต้องชี้แจงให้เห็นว่าจะสามารถนำรายได้จากส่วนใดมาชดเชย
"รัฐธรรมนูญในปี 40 ร่างขึ้นก่อนจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จึงมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งพอมองย้อนไปรัฐบาลที่มุ่งประชานิยมจะเอาช่องโหว่ตรงนี้มาใช้ประโยชน์ในการหาเสียง ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 50 จึงแก้โดยให้เน้นเสถียรภาพการคลัง เพราะเสถียรภาพการเมืองที่มากไปและให้อำนาจนายกฯมากไป ทำให้กลไลการตรวจสอบนายกฯ ถูกบั่นทอน ซึ่งปีนี้เราจะทำให้สมดุลมากขึ้นด้วยการสร้างกลไกและวินัยทางการคลัง" นายพิสิฐ กล่าว
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร แนะให้รัฐบาลใหม่ดำเนินมาตรการนโยบายการเงินการคลังอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เนื่องจากในยุคของโลกาภิวัฒน์เป็นยุคที่เงินทุนไหลเข้าออกอย่างรวดเร็วจะทำให้การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะตลาดเงินตลาดทุนของโลกจะมีผลตอบสนองอย่างรวดเร็วมากไม่ว่าจะเป็นด้านการตอบรับหรือต่อต้าน
"ยุคโลกาภิวัฒน์ที่เงินทุนไหลเข้าออกรวดเร็ว ระบบการเงินโลกมีประสิทธิภาพสูง การที่เราทำอะไรผิดเพี้ยนไปนิดเดียว หรือทำให้ขาดความสมดุลย์ ตลาดจะตอบรับรุนแรงมาก ดังนั้นนโยบายการเงินการคลังในยุคโลกาภิวัฒน์จะมีผลกระทบที่รุนแรง และต้องระมัดระวังอย่างมากในอนาคต" นายศุภวุฒิ กล่าว
นายศุภวุฒิ ยังเตือนให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือสถานการณ์ในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะทยอยปรับลดการบริโภคเพื่อเพิ่มการออมในประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงและต่อเนื่องจากการออมที่ลดลง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลมาถึงภาคการส่งออกของไทยในอนาคตได้
"สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก รากเหง้าของปัญหามาจากที่การลงทุนของเขาเท่าเดิมแต่การออมลดลง ดังนั้นการบริโภคของสหรัฐจะต้องลดลง และกลับมาออมใหม่ให้มากขึ้น ซึ่งเราต้องคิดว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร" นายศุภวุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ