สภาพัฒน์ เปิดรับฟังความเห็นแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ช่วงมี.ค.-เม.ย.ประเดิมภาคเหนือตอนบน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 1, 2021 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพัฒน์ เปิดรับฟังความเห็นแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ช่วงมี.ค.-เม.ย.ประเดิมภาคเหนือตอนบน

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ สศช.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560- 2565) ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเสมือนก้าวที่ 2 ของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ดังนั้น สศช. จึงจัดกิจกรรมการระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.64 ในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวทีระดมความเห็นในระดับกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ การระดมความเห็นเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง รวมถึงการจัดให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวกและทั่วถึง ผ่านช่องทางออนไลน์และสื่อสาธารณะ

สำหรับในวันนี้ (1 มี.ค.) ได้จัดประชุมระดมความเห็นต่อกรอบแผนฯ 13 ระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน)

รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและปรับปรุงกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาฯ หลังจากนั้น จะแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แต่ละด้านเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่สอดคล้องกับกรอบที่จัดทำไว้ และจะมีการระดมความเห็นร่วมกับภาคีการพัฒนาต่อร่างยุทธศาสตร์ของแผนฯ ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องต้นปี 2565 ต่อไป

สำหรับร่างกรอบแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ได้กำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติ สรุปได้ดังนี้

สาระของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนโดยสิ่งที่ต้องทำ คือ การเปลี่ยนผ่านประเทศ หรือการtransformประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

1. การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากรไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง บนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการพัฒนา ต่อยอด และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

2. การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่หรือการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาคโดยทุกกลุ่มคนมีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ ได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และประเทศมีความเหลื่อมล้ำลดลงทั้งในเชิงธุรกิจ พื้นที่ รายได้ และความมั่งคั่ง

3. การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนโดยทุกภาคส่วนในสังคมมีรูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสามารถรับมือและมีภูมิคุ้มกันจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

4. การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูงเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน

ภายใต้องค์ประกอบในแต่ละด้าน จะมีการกำหนดหมุดหมายซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสิ่งที่ประเทศไทยปรารถนาจะเป็นมุ่งหวังจะมีหรือต้องการจะขจัดในช่วงระยะเวลา 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพลิกโฉมประเทศสู่การเป็น เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ไปสู่การปฏิบัติมีทิศทางที่ชัดเจนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจำนวน 13 หมุดหมาย คือ (1)ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปมูลค่าสูง (2)ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน (3) ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (4) ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5) ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค (6) ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน

(7) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และSMEs (8) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่(9) มุ่งเพิ่มพลวัตการเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง (10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11) ไทยสามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ (12) ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคตและ (13) ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับที่ผ่าน ๆ มา สศช. ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาสำคัญของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ก็เช่นกัน สศช. ยังคงมุ่งเน้นเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาและสาธารณชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแผนฯ อย่างกว้างขวาง ประกอบกับในมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2561 กำหนดว่าในการจัดทำแผนพัฒนาฯ นั้น ต้องจัดทำกรอบที่ผ่านความเห็นจากประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก จึงจะดำเนินการในขั้นตอนของการจัดทำยุทธศาสตร์ของแผนฯ ในรายละเอียดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ