ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 51 วงเงิน 9.73 แสนล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 18, 2007 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 51 วงเงินรวม 973,784 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 6 แผนย่อย ได้แก่ แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐบาล 465,995 ล้านบาท, แผนการบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDI) 25,000 ล้านบาท, แผนการบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน,
แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ 357,296 ล้านบาท, แผนการก่อหนี้จากต่างประเทศ 27,132 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้ต่างประเทศ 98,360 ล้านบาท ทั้งนี้ แยกเป็นหนี้ของรัฐบาล 25,597 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 72,763 ล้านบาท
นายโชติชัย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 51 ยังมีการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินการกู้เงินและบริหารหนี้ของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยกำหนดเป็นวงเงินนอกแผนการกู้เงินและบริหารหนี้ปกติ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน รวม 99,829.82 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท
ประเภทแรกการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน วงเงิน 80,501.82 ล้านบาท เช่น แผนการกู้เงินของ บมจ.การบินไทย(THAI) 24,919 ล้านบาท, แผนการบริหารหนี้ของ บมจ.การบินไทย 42,188 ล้านบาท, บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) 9,690 ล้านบาท และ บมจ.ทีโอที 3,703 ล้านบาท
ประเภทสอง การกู้เงินระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line, การกู้เงินผ่อนปรนและการ Roll-over เงินกู้ผ่อนปรนจากธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงิน 19,328 ล้านบาท
ทั้งนี้หากในปี 50-51 GDP โต 4.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อ 2.5% จะทำให้สิ้นปีงบประมาณ 51 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับ 40.01% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณ 11.15% ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง คือ หนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 50% และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%
นายโชติชัย ระบุว่า จากการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้ในประเทศและต่างประเทศปีงบประมาณ 51 ประมาณการว่าจะสามารถลดหนี้คงค้างลง 10,000 ล้านบาท และประหยัดดอกเบี้ยได้ 860 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ยังไม่รวมการปิดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ