นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแลสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เผยพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงไตรมาส 2(เม.ย.-มิ.ย.) พบว่า ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายสุราและของมึนเมาจำนวน 35,943 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.4% เนื่องจากบางกลุ่มหันไปดื่มสุราพื้นบ้าน และเป็นผลจากการรณรงค์งดเหล้าที่ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ขึ้นภาษี สุราขาว สุราผสม และสุราพิเศษ ประเภทบรั่นดี เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการบริโภคสุราลดลง
แต่ถึงแม้รัฐจะมีมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและหวังลดการบริโภคสุราและของมึนเมาแล้ว แต่ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะผู้ประกอบการได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่น เหล้าปั่น ที่มีส่วนผสมของเหล้ารวมกับน้ำผลไม้, เหล้าผง ซึ่งกฎหมายสุรายังควบคุมไม่ถึง เพราะจัดให้อยู่ในหมวดเครื่องปรุงรส ซึ่งเบื้องต้นภาครัฐควรปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจประเภทนี้ที่พยายามหาลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปด้วย
สำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุหรี่มีจำนวน 5,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% เนื่องจากผู้บริโภคหันมาบริโภคบุหรี่นำเข้าที่มีราคาแพงเพิ่มจาก 100.16 ล้านซอง เป็น 125.61 ล้านซอง หรือเพิ่มขึ้น 25.4% ทำให้สัดส่วนการบริโภคบุหรี่นำเข้าเพิ่มจาก 21.5% เป็น 23.3% ของทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐควรพิจารณาขยายพื้นที่ห้ามสูบให้ครอบคลุมสถานบริการ เช่น ผับ และบาร์ ตลอดจนปราบปรามผู้ฉวยโอกาสลักลอบน้ำเข้าบุหรี่เมื่อราคาในประเทศสูงควบคู่ไปด้วย
ส่วนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงไตรมาส 2 ยังไม่ดีขึ้น โดยจำนวนคดีหลัก 3 คดี ได้แก่ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สินและคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ และคดียาเสพติด 62,248 คดี เพิ่มขึ้น 7.37% โดยพบว่าคดียาเสพติดมากสุด 33,250 คดี เพิ่ม 16.29% รองลงมาประทุษร้ายต่อทรัพย์ 18,705 คดี เพิ่มขึ้น 1.48% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโจรกรรมรถจักรยานยนต์ และรถยนต์
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/ศศิธร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--